กรมจัดหางานเผยช่วงโควิด19 ยังพบการโฆษณาจัดหางานชักชวนคนหางานไปทำงานในต่างประเทศผ่านออนไลน์ โดยไม่มีการขออนุญาตมีโทษทั้งจำทั้งปรับ เตือนคนไทยอย่าหลงเชื่อลักลอบเดินทาง พร้อมเข้มงวดตรวจสอบต่อเนื่อง
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังเข้มมาตรการป้องกันการหลอกลวงและลักลอบไปทำงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานประจำท่าอากาศยานต่างๆ เข้มงวด ตรวจสอบและระงับการเดินทางผู้ที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าจะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ พร้อมกับชี้แจงให้ทราบถึงวิธีการเดินทางไปทำงาน หรือฝึกงานในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่า ก่อนเดินทางต้องแจ้งหรือขออนุญาตต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
“ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถิติคนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ผ่านด่านตรวจคนหางานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวน 585 คน เจ้าหน้าที่ได้สั่งระงับการเดินทางของคนหางานที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 2 คน ส่วนเดือนพฤษภาคม มีคนหางานเดินทางฯ 243 คน สั่งระงับการเดินทาง 9 คน เดือนเมษายน มีคนหางานเดินทางฯ 557 คน สั่งระงับการเดินทาง 7 คน และเดือนมีนาคม มีคนหางานเดินทางฯ 3,737 คน สั่งระงับการเดินทาง จำนวน 56 คน” นายสุชาติ กล่าว
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กรมการจัดหางานยังติดตามสถานการณ์แรงงานไทยที่แจ้งเดินทางกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2562 ถึง 26 เมษายน 2563 มีแรงงานไทยรายงานตัวกลับประเทศกับ ตม.เกาหลีใต้ จำนวน 8,043 คน ส่วนชายแดนใต้ ในช่วงวันที่ 16 มีนาคม - 4 พฤษภาคม 2563 มีคนไทยเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย จำนวน 26,331 คน
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ถึงแม้ในหลายประเทศจะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ยังพบว่าการโฆษณาจัดหางานเพื่อชักชวนคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์หรือช่องทางอินเตอร์เน็ต กลับมีจำนวนมากขึ้น โดยไม่มีการขออนุญาตในการโฆษณาจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงโฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการโฆษณาการจัดหางาน พ.ศ.2561 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
“กรมการจัดหางานจะตรวจสอบและติดตาม พร้อมประสานการทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ในการติดตามหาตัวบุคคล เพื่อจะขยายผลในการดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ ผู้ใดพบเห็นการโฆษณาจัดหางาน ชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือสงสัยว่าจะเป็นการหลอกลวงคนหางาน สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 02-245-6763 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน” นายสุชาติ กล่าว
- 35 views