สภาการสาธารณสุขชุมชนรวบรวมปัญหาบุคลากรสาธารณสุขเบื้องต้น 5 กลุ่มบรรจุขรก.รุ่นโควิดไม่ทัน ขอเพิ่มอัตรากำลัง ตำแหน่งว่าง ปรับวุฒิ ปรับตำแหน่ง ขณะที่กลุ่มชายแดนใต้ -กลุ่มรอขึ้นบัญชีกระทบด้วย

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 นายริซกี สาร๊ะ โฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวถึงการเรียกร้องบุคลากรสาธารณสุขได้รับการบรรจุข้าราชการ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเรียกร้องขอให้บุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานสู้โควิด19 ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ได้รับการบรรจุในรอบเดียวกันคือ รอบ 2 และ 3 ซึ่งได้รับการตอบรับและความกรุณาจากท่านผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้มีการบรรจุในคราวเดียว อย่างไรก็ตาม นอกจากการบรรจุข้าราชการปฏิบัติงานโควิด-19 จำนวน 45,684 อัตรา ยังพบปัญหาและข้อจำกัดในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีก ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางสภาฯได้รวบรวบ และส่งเรื่องร้องเรียนไปยังท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ผ่านทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การบรรจุกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังส่งเรื่องร้องไปยังท่านนายกรัฐมนตรีช่วงวันที่ 1-2 ก.ค.ที่ผ่านมา

นายริซกี กล่าวว่า เบื้องต้นสรุปปัญหาข้อจำกัดกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่ยังไม่ได้บรรจุมีอีก 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มลูกจ้างที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ แต่ไม่มีรายชื่อในการบรรจุเป็นข้าราชการ กลุ่มนี้มีประมาณหลัก 100 คน โดยทางสภาฯ ขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรุณาตรวจสอบคุณสมบัติและอนุมัติเลขอัตราใหม่ภายในปี 2563

2.กลุ่มลูกจ้างที่มีเลขตำแหน่งในระบบ HROPS ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานราชการ มีวุฒิปริญญาตรีด้านสาธารณสุข แต่มีสัญญาจ้างในตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข (กรณีจ้างต่ำกว่าวุฒิ) โดยข้อเสนอ ขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณสมบัติ พร้อมทั้งปรับระบบการจ้างในตำแหน่งที่ตรงกับวุฒิ และมีเลขตำแหน่งในระบบ HROPS และขออนุมัติเลขอัตราใหม่ภายในปี 2563 สำหรับกลุ่มนี้มีประมาณ 500 คน

3.กลุ่มลูกจ้างที่คุณสมบัติครบถ้วนมีสัญญาจ้างถูกต้องก่อนวันที่ 15 มี.ค.2563 ตามหลักเกณฑ์การบรรจุข้าราชการ แต่มีการคีย์ข้อมูลในระบบ HROPS หลังวันที่ 15 มี.ค.2563 ข้อเสนอ คือ กระทรวงสาธารณสุขควรตรวจสอบบุคคลที่มีสัญญาจ้างและมีคุณสมบัติครบถ้วน และอนุมัติเลขอัตราใหม่ภายในปี 2563 โดยกลุ่มนี้มีประมาณกว่า 100 ราย

4. กลุ่มลูกจ้างเหมา รายวัน รายคาบ และลูกจ้างโครงการ ที่ทำงานบริการหรือสนับสนุนบริการในการป้องกันโรคโควิด19 แต่ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากไม่มีเลขตำแหน่งในระบบ HROPS ข้อเสนอขอให้กระทรวงฯ ควรตรวจสอบคุณสมบัติและปรับเป็ฯลูกจ้างในระบบ คือ เป็นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานราชการภายในปี 2563-2564 สำหรับกลุ่มนี้มีประมาณ 1,000 กว่าราย

5.กลุ่มที่เป็นลูกจ้าง 24 สายงานในระบบ HROPS แล้วโยกย้ายไปเป็นลูกจ้าง 24 สายงานในระบบ HROPS อีกแห่งในช่วงก่อนจะมีมติบรรจุ และมีการจ้างต่อเนื่อง ข้อเสนอให้กระทรวงฯ ตรวจสอบคุณสมบัติและขออนุมัติตำแหน่งใหม่ หรือใช้ตำแหน่งว่างบรรจุในปี 2563-2564 สำหรับกลุ่มนี้อยู่หลับสิบราย

“ทั้ง 5 กลุ่มเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานเช่นกัน แต่มีข้อจำกัดอย่างที่กล่าวข้างต้น จึงขอความกรุณาต่อทางท่านรัฐมนตรี สธ. และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทุกท่านช่วยพิจารณาช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่รอขึ้นบัญชี หมายถึงสอบ ก.พ.ได้แล้ว แต่รอเรียก ซึ่งกระจายอยู่ตามกรมต่างๆ มีทั้งกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมควบคุมโรค ปรากฏว่าบางส่วนหมดอายุไปแล้ว ซึ่งน่าเสียดาย แต่ยังมีบางส่วนที่รอเรียกขึ้นบัญชี อยากให้มีการเรียกพวกเขาก่อนจะหมดบัญชี หรือหมดอายุลง” นายริซกี กล่าว

โฆษกสภาฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ขอให้มีการกำหนดตำแหน่งใหม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนทั้งในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่มีบทบาทสำคัญในการโควิด-19 โดยให้ใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนประกอบการพิจารณาปรับเปลี่ยนตำแหน่งเป็นตำแหน่งทางวิชาชีพ โดยเทียบเคียงกับตำแหน่งนักจิตวิทยาคลินิก (มีใบประกอบวิชาชีพ) กับนักจิตวิทยา (ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ) หรือการปรับตำแหน่งโดยใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เทียบเคียงได้กับตำแหน่งพยาบาลเทคนิค เป็นพยาบาลวิชาชีพและขอให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการพลเรือนชายแดนใต้ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ โควิด-19 ในการปรับตำแหน่งจากสายงานทั่วไป ระดับชำนาญงาน เป็นสายงานวิชาการระดับชำนาญการ โดยใช้หลักเกณฑ์หนังสือ กพ ว. 16/58 ชายแดนใต้ โดยขอให้ปรับตำแหน่งใหม่ทุกตำแหน่งในคราวเดียวกันทั้งหมด