อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยกรณีแรงงานเมียนมาติดเชื้อหลังกลับไทย ข้อเท็จจริงมี 1 รายกลับจากไทย เป็นแรงงานหลบเข้าเมืองและถูกกักตัวในสถานที่กักของรัฐ เป็นผู้ติดเชื้อที่ไทยเคยประกาศรักษาหายและส่งกลับประเทศ
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่ทางสาธารณสุขเมียนมาได้รายงานพบชาวเมียนมาติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ซึ่งเป็นคนที่เดินทางมาจากเมืองไทย ว่า เรื่องนี้เราได้มีการตรวจสอบแล้วว่า ในจำนวน 3 รายใหม่นี้ มีเพียง 1 รายที่กลับจากประเทศไทย ส่วนอีก 2 ราย เป็นชาวเมียนมาที่เดินทางกลับจากอินเดีย ทั้งนี้ ใน 1 รายที่กลับจากประเทศไทยนั้น ก็เป็นแรงงานหลบเข้าเมือง และถูกกักตัวในสถานที่กักตัวของรัฐ ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นผู้ติดเชื้อที่ไทยเคยประกาศไปแล้ว รักษาหายแล้ว ส่งกลับประเทศ ทั้งนี้ได้ประสานและแนะนำถึงการตรวจเจอสารพันธุกรรมของเชื้อนั้นต้องนำไปเพาะเชื้อดูด้วยว่าสามารถขยายตัวได้หรือไม่ เพราะในคนที่ติดเชื้อรักษาหายแล้วนั้นเราะจะสามารถตรวจเจอสารพันธุกรรมได้ แต่เป็นเพียงซากเชื้อที่ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ อย่างไรก็ตาม การที่เมียนมามีการตรวจเชื้อซ้ำก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
“ในรายนี้รักษาตัวนำไทยตามมาตรฐาน เมื่อหายแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ของไทยได้ผลักดันส่งกลับไปยังเมียนมา ไม่ได้ปล่อยให้กลับเอง พร้อมแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย อยู่ห่างจากคนอื่นๆ เป็นเวลา 30 วัน เพราะฉะนั้นคนนี้ก็ไม่ได้ออกนอกเส้นทาง อย่างไรก็ตาม เราตรวจติดตามคนใกล้ชิดตลอดเส้นทางจนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็ได้ทำความสะอากกพื้นผิวต่างๆ ด้วย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า สำหรับการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้าไทย ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มนั้น กลุ่ม 1 เข้ามาระยะยาว กลุ่มนี้ต้องเข้าไปกักแยกที่สถานที่ที่แยกกัก ส่วนกลุ่ม 2 เข้ามาระยะสั้น กำหนดตรวจเชื้อด้วยวิธีเรียลไทม์ พีซีอาร์ (RT-PCR) ใน 72 ชั่วโมง และต้องไม่เดินทางไปยังประเทศเสี่ยงในช่วง 14 วันก่อนเดินทางมายังไทยด้วยนั้น ขณะนี้เรายังได้ไปตั้งแล็ปและเครื่องตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว โดยจะใช้เวลาในการตรวจ รวมเก็บตัวอย่าง และรอผลไม่กิน 2 ชั่วโมง เบื้องต้นประมาณ 3-4 เครื่อง รองรับการตรวจประมาณ 50 คนต่อวัน และขณะนี้ได้ประสานการท่าอากาศยานในการจัดห้องรองรับการพักรอผลตรวจด้วย
สำหรับการเดินทางกลับมีบางประเทศที่ขอให้ไทยตรวจเชื้อก่อนเดินทางออกนอกประเทศด้วย ไทยก็จะดำเนินการให้ นอกจากนี้ ในกลุ่มคนที่เข้ามายังประเทศไทยระยะสั้นนั้นจะต้องมีแอปพลิเคชั่นติดตาม และจัดทีมที่มีความรู้ด้านสาธารณสุขในการติดตามด้วย เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีการเดินทางตามแผนการเดินทางในประเทศไทยที่ส่งมาตั้งแต่แรก
- 2 views