“นพ.สุขุม กาญจนพิมาย” เผยสถานการณ์ผ่อนคลายมาตรการเฟส 5 ต้องระวัง อย่าประมาท ขณะที่สธ.จับมือหลายหน่วยงานเดินหน้าผลิตวัคซีน เบื้องต้นตั้งเป้า 30 ล้านโดส คาดผลิตได้เร็วสุดกลางปี 64
วันที่ 29 มิ.ย.63 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้เป็นวันที่ 35 ของประเทศไทย ที่ไม่มีการติดเชื้อในประเทศ โดยผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 7 รายกลับมาจากต่างประเทศ เป็นอินเดีย 6 ราย และสหรัฐอเมริกา 1 ราย ทั้งหมดเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) โดยผู้ป่วยสะสม 3,169 ราย หายป่วยแล้ว 3,053 ราย ยังรักษาอยู่ 58 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย
นพ.สุขุม กล่าวว่า หลังผ่อนปรนทั้ง 4 ระยะ ยังมีผู้ป่วย แต่เกือบ 100% มาจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ จะพบว่า ระยะเวลาของการตรวจพบเชื้อช่วงก่อน 7 วัน มีประมาณ 85% ส่วนการตรวจพบหลังวันที่ 11 ลงไป มีเกือบ 10% ดังนั้นการสังเกตอาการ 14 วันจึงยังจำเป็น เพราะถ้าออกมาเร็วเกินไป อาจแพร่เชื้อในชุมชนได้
นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับสถาการณ์ทั่วโลก มีผู้ป่วยทั้งหมด 10,237,543 ราย เป็นรายใหม่ 1.6 แสนราย โดยสหรัฐอเมริกายังเป็นปัญหา จากเดิมผู้ป่วยรายใหม่เคยลดลงมาเหลือ 2 หมื่นกว่าราย แต่ช่วงนี้อาจไม่ได้ดูแลสนใจสุขอนามัย ไม่ใส่หน้ากาก ทำให้เพิ่มเป็น 4 หมื่นกว่าราย สูงสุดในโลกตอนนี้ ทำให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต ส่วนบราซิลดีขึ้นเหลือผู้ป่วยใหม่ 2.9 หมื่นราย ส่วนอินเดียรายใหม่เกือบ 2 หมื่นคน ไทยอยู่อันดับ 95 ของโลก แต่ถ้าวันนี้ไทยดีขึ้น สถิติเราลดลง แต่ต่างประเทศยังจำนวนมากขึ้นก็ต้องระวังตัวเช่นกัน ถ้าดูในประเทศกลุ่มบ้านเรา อาเซียนหรือเอเชีย ที่มีปัญหา คือ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ พม่าก็ยังมี
ปลัด สธ. กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องระวัง คือ ตอนนี้เรามั่นใจว่าประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยในประเทศ มีจำนวนควบคุมได้ รายใหม่จำนวนไม่มาก แต่การผ่อนปรนในระยะที่ 5 ที่มีความเสี่ยง เพื่อให้มีชีวิตปกติแบบ New Normal สธ.มีการสำรวจทั้ง กทม.และทั่วประเทศ โดย รพ.มีเตียงไอ.ซี.ยู. 571 เตียง ห้องแยกสำหรับอาการหนัก 11,206 เตียง เตียงทั่วไปอีก 10,349 เตียง ซึ่งการไม่พบผู้ป่วยหนัก ไม่มีผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ก็คิดว่าเตียง 2 หมื่นกว่าเตียงก็น่าเพียงพอรองรับ หากมีสถานการณ์มากขึ้น เราคำนวณว่ารองรับได้วันละ 50-500 คนต่อวัน ถ้ามีผู้ป่วยรายใหม่ อุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่เคยกังวล เช่น หน้ากาก N95 เราเตรียมความพร้อมไว้ 1.12 ล้านกว่าชิ้น ชุดป้องกันอันตรายระดับสูงเมดิคัลเกรด หรือชุด PPE มี 5.11 แสนกว่าชุด โดย 3.5 แสนชุดกระจายทุก รพ. อีก 1.5 แสนชุดเตรียมที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อกระจายในเคสฉุกเฉิน และมีเครื่องช่วยหายใจที่ว่าง 1.1 หมื่นเครื่อง
นพ.สุขุม กล่าวว่า นอกจากเตียง อุปกรณ์แล้ว คือ ยา โดยยาฟาวิพิราเวียร์ที่รักษาโดยเฉพาะ สมัยเริ่มที่นำมาใช้เฉพาะผู้ป่วยหนัก ปอดบวม ใช้เครื่องช่วยหายใจ เรามีสต๊อกกว่า 3 แสนเม็ด ตอนนี้กระจายผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก แต่มีปัจจัยเสี่ยงอายุมาก โรคประจำตัว เช่น ถุงลมโป่งพอง หัวใจ เบาหวาน ทำให้สถานการณ์ผู้ป่วยเราดีขึ้น อาการหนักน้อยลง อยู่ รพ.น้อยลง กลับบ้านเร็วขึ้น ส่วนยาอื่นก็เตรียมเช่นกัน
นพ.สุขุมกล่าวว่า ส่วนวัคซีน มี 3 แนวทาง คือ 1.พัฒนาวิจัยในประเทศ ซึ่ง สธ. มหาวิทยาลัยต่างๆ เอกชน ร่วมกันพัฒนา โดยตอนนี้ทำวัคซีนต้นแบบ 20 ชนิด ทดลองในสัตว์ 6 ชนิด โดย 2 ชนิด ทดลองในหนูและลิง พบมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาก การทดลองในมนุษย์ วัคซีนชนิดหนึ่งอาจจะเริ่ม ต.ค. อีกชนิดหนึ่งถ้าทำได้เร็วก็อาจเป็น ก.ค.นี้ ถ้าทำสำเร็จ สธ.จะนำมาใช้ในพี่น้องประชาชน โดยผลิตในประเทศ ซึ่งต้องพัฒนาให้เกิดโรงงาน โดยผลิตให้ได้ถึง 30 ล้านโดส และคาดว่าจากปลายปี 2564 อาจเร็วขึ้นเป็นกลางปี 2564 โดยเตรียมงบประมาณสนับสนุนไว้เพื่อพัฒนา 2. ร่วมมือต่างประเทศอย่าใกล้ชิด โดยต่างประเทศมีวัคซีนทดลองมนุษย์แล้ว 13 ตัว เราประสานร่วมมือ 3 ประเทศ 7 หน่วยงานเพื่อพัฒนาวัคซีน เผื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาผลิตในประเทศเพื่อลดเวลา 3.จัดหาถ้ามีใครมีแนวโนมผลิตได้ จะไปติดต่อเพื่อขอจองวัคซีน เราติดตามใน 2 ประเทศ 5 หน่วยงาน ค่าใช้จ่ายประมาณ โดสละ 20-30 เหรียญสหรัฐ
- 5 views