อธิบดี สบส. เตรียมพร้อมแผนรองรับผู้ป่วยต่างชาติ รักษาผ่านระบบ “ฮอทพิทัล ควอรันทีน” ย้ำ ต้องกักตัว 14 วัน พร้อมตรวจโควิดทุกราย
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงแนวคิดเปิดให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามารักษาในโรงพยาบาลในประเทศไทย ว่า เรื่องนี้สืบเนื่องจากปกติการดูแลคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยก็จะมีสถานที่แยกกักที่รัฐจัดหาให้ (state quarantine) ซึ่งเป็นโรงแรม ตอนหลังมีการเพิ่มสถานที่กักแยกทางเลือก (Alternative State Quarantine) เป็นโรงแรมที่ให้คนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศต้องกักตัว 14 วัน เลือกเข้าไปอยู่ได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งต่อมาระยะหลังพบว่าคนที่เดินทางมีการป่วยโควิดจำนวนมากในแต่ละเที่ยวบิน นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่มีโรคประจำตัว ทำให้เมื่อมาที่สถานที่แยกกักแล้วก็ต้องมาหารพ.รับดูแลในภายหลังอีก
ดังนั้น คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโรควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข จึงให้ สบส.มาหามาตรการรองรับสถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นที่มาของการทำโรงพยาบาลกักแยก (Hospital Quarantine) คือ เมื่อมีคนไทยที่ป่วยกลับมาก็ให้ไปกักตัวที่รพ.เลย โดยทำ 2 แบบ หากคนไทยจะใช้สิทธิรักษาตามสิทธิก็อยู่ที่รพ.ตามสิทธิมารับตัว แต่หากต้องการจ่ายเงินเองไปยังรพ.เอกชนที่ร่วมโครงการ ดังนั้นในระยะต้นเราจะรับคนไทยที่ป่วยก่อน
“อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อไหร่ที่ ศบค.ใหญ่อนุญาตให้คนต่างชาติที่เจ็บป่วยเข้ามาก็จะใช้กลไกฮอทพิทัลควอรันทีน โดยสมัครเข้ามา ไปรับผู้ป่วยแล้วอยู่ในรพ.แห่งนั้นเลย คิดว่าจะเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจประเทศด้วย เหมือนเมดิคัลทัวร์ลิซึม ส่วนจะต้องพิจารณาเป็นไปตามประเทศที่ได้รับการจับคู่การท่องเที่ยวเท่านั้นหรือไม่นั้น โดยหลักการควรจะอยู่ภายใต้กรอบใหญ่ คืออยู่ภายใต้การการจับคู่ (Travel Bubble) ก่อน” นพ.ธเรศ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าที่ผ่านมา รพ.เอกชนจะมีผู้ป่วยชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ ที่เข้ามาประจำอยู่แล้ว แปลว่ายังไม่สามารถให้รพ.เอกชนเลือกรับผู้ป่วยจากต่างประเทศได้เองใช้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า จริงๆ จะมีการเสนอหลักการวิธีการต่อ ศบค.ชุดเล็กเร็วๆ นี้ โดยมีหลักการว่าอาจจะมีการดูประเทศที่เป็นลูกค้าเมดิคัลทัวร์ลิซึมของไทยอยู่แล้ว เช่น 1. กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) 2. กลุ่มที่นิยมมารักษาในไทย เช่น จีน กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ หรือกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นลูกค้าประจำของไทยอยู่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามต้องดูประเภทที่จะเข้ามาทำการรักษาด้วย สิ่งสำคัญคือต้องทำตามแนวทางควบคุมป้องกันโรคของไทย คือการกักตัว 14 วัน แม้ว่าจะมารักษาด้วยโรคที่อาจจะใช้เวลาในการรักษาแค่ 2-3 วันก็ตาม และรพ.ก็ต้องมีระบบการสมัครเข้ามา มีห้องสำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วย กรณีพบติดเชื้อโควิด-19 ยกตัวอย่างเข้ามารักษามีบุตรยาก หรือผู้ป่วยเบาหวานของรพ.เอกชนในประเทศไทย เมื่อเข้ามาต้องมีการตรวจโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 0 วันที่ 7 และวันที่ 14 โดยรพ.ต้องคิดเอาไว้เสมอว่าคนเหล่านี้มีโรคโควิดอยู่ ดังนั้นต้องมีการตรวจ ก่อนทำการรักษาโรคอื่นๆ ถ้ามีโควิดก็ต้องรักษาโควิดด้วย ถ้าไม่มีก็ต้องอยู่รพ.ให้ครบ 14 วัน เมื่อครบแล้วปลอดเชื้อ สามารถออกจากรพ.ได้ หากผู้ป่วยเหล่านี้อยากท่องเที่ยวในไทยก็จะมีการจัดเรื่องการท่องเที่ยวที่สามารถทำได้ และตรวจสอบติดตามได้
เมื่อถามว่าเมื่อมีการเปิดให้ให้ผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาพร้อมตรวจโควิด-19 ก่อนทำหัตถการต่างๆ แปลว่าจำเป็นต้องใช้อุปกณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันตัว อาทิ หน้ากากN95 และชุด PPE เพียงพอหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เนื่องจากการรับผู้ป่วยก็ต้องผูกพันกับเรื่องอุปกรณ์ป้องกันตัวต่างๆ ดังนั้นการรับผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามาจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และอาจจะไม่ได้เยอะมาก คิดว่าอย่างไรก็ตามอาจจะต้องคุยกับรพ.เอกชน ซึ่งเขาต้องมีการประมาณการณ์ และเตรียมการเรื่องนี้ให้พร้อม เพียงพอ ไม่เป็นภาระกับระบบสุขภาพในภาพรวม ดังนั้นหากเรื่องนี้ ทางศบค.ใหญ่อนุญาตแล้วต้องมาคุยกันเรื่องจำนวนอีกครั้ง
- 100 views