กระทรวงสาธารณสุขขอคนไทยอย่าเพิ่งไปญี่ปุ่น หลังอนุญาตไทยเข้าประเทศ ยกเว้นนักธุรกิจหรือคนมีความจำเป็น ย้ำกลับมาต้องปฏิบัติตามมาตรการกักตัว เผยตัวเลขระบาดแค่ไหน เรียกว่าถึงขั้นวิกฤต พร้อมกำชับคนใส่เฟซชิลด์อย่างเดียวไม่ช่วยป้องกันโควิด-19

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทย ว่า จากตัวเลขผู้ป่วยในประเทศไทยที่พบน้อยลง และส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศนั้น ยังเร็วไปหากจะบอกว่ากำจัดโรคภายในประเทศหมดไปแล้ว ดังนั้น จึงต้องเข้มมาตรการเดิมอยู่ อย่างไรก็ตาม หากแบ่งการแพร่ระบาดของไทยจะเป็น 3 ระยะ แต่ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระยะ 1 คือ โรคยังมีการระบาดอยู่

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการระบาดในระยะที่ 1 จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ การแพร่ระบาดระดับ 1 คือ ไม่มีผู้ป่วยหรืออยู่ในวงจำกัด ระดับ 2 เป็นการแพร่ระบาดต่อเนื่อง และระดับ 3 การแพร่ระบาดวิกฤต โดยประเทศไทยขณะนี้อยู่ในระดับที่ 1 ซึ่งมีคำถามว่าการแพร่ระบาดจากวงจำกัดจะปรับไปสู่การแพร่ระบาดต่อเนื่องต้องพิจารณาจากอะไร ก็ต้องพิจารณาจากตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 14 วัน โดยต้องพบผู้ป่วยประมาณ 5 คนต่อประชากร 1 ล้านคนต่อวัน แต่หากจะถึงขั้นวิกฤต จะต้องพบประชากรป่วย 10-15 คนต่อประชาชน 1 ล้านคนต่อวัน ดังนั้น มาตรการเข้มป้องกันแพร่ระบาดโควิดยังต้องปฏิบัติอยู่เสมอ กลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนอ้วนฯลฯ ขอให้อยู่บ้าน หากไม่จำเป็นขอให้หลีกเลี่ยงออกนอกบ้าน โดยกระทรวงสาธารณสุขยังคงมาตรการคงเดิม ทั้งป้องกัน ค้นหา ควบคุม และรักษา

“นอกจากนี้ อีกอย่างที่อยากเตือนคือ มีคนใส่หน้ากากเฟซชิลด์ (Face Shield) โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ขอย้ำเตือนให้ใส่ด้วย เพราะหน้ากากเฟซชิลด์ไม่ได้ช่วยป้องกันโควิด-19ได้ ดังนั้น หากมีการแพร่เชื้อโควิด คนสวมหน้ากากเฟซชิลด์ ย่อมเสี่ยงรับเชื้อมากกว่าคนสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ภาพจากกระทรวงสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้ไทยเข้าประเทศได้ช่วงเดือนมิ.ย. กรณีดังกล่าวจะมีความเสี่ยงเหมือนจุดเริ่มแรกที่ไทยพบเชื้อจากการนำเข้าจากต่างประเทศหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มีความเสี่ยง และหากเดินทางไปกลับมาก็ต้องเข้าสู่การกักกันตัว 14 วัน ในสถานที่รัฐจัดให้ แต่หากเป็นตนจะไม่ไป เพราะกรณีนี้น่ากังวล เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อยังคงมี แต่หากเป็นนักธุรกิจ การประกอบอาชีพที่มีความจำเป็นต้องติดต่อระหว่างกันก็อาจต้องไป เพียงแต่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการของประเทศไทย โดยต้องกักตัว 14 วัน และหากพบการติดเชื้อก็ต้องใช้เวลานานกว่านั้น หากไม่ปฏิบัติเราก็จะกลับไปจุดเดิม ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดหากจะไปท่องเที่ยวในช่วงเวลานี้ก็อย่าเพิ่งไป แม้จะมีตั๋วเดินทางราคาถูกก็อยากให้พิจารณาดีๆ

เมื่อถามว่าการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศควรไปเมื่อไหร่ ต้องรอให้มีวัคซีนหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การไปท่องเที่ยวต่างประเทศนั้น ต้องดูความจำเป็น เมื่อไม่จำเป็นก็ท่องเที่ยวในประเทศไทยก็ได้ ซึ่งการรอให้มีวัคซีนป้องกันก็เป็นอีกทางที่น่าจะดี แต่ขณะนี้การเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศก็ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะต้องมาดูว่าประเทศไทยเปิดให้บินออกนอกประเทศได้แล้วหรือไม่ อย่างไร