ขยายผลชุด PPE ป้องกันเชื้อโควิดรุ่น “เราสู้” สู่รุ่น “เราชนะ” ป้องกันความเสี่ยงสูงผลิต มิ.ย.นี้ ด้านสมาคมอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์ไทย เผยความพิเศษชุด PPE ใช้อุตสาหกรรมอื่นๆได้นอกเหนือการแพทย์
หลังจากความสำเร็จของการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล หรือชุด PPE รุ่น “เราสู้” ที่พัฒนาและผลิตโดยคนไทย จากความร่วมมือขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย ร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน ฯลฯ จนสามารถผลิตชุด PPE รุ่น “เราสู้” ซึ่งเป็นชุดป้องกันระดับ 2 หรือป้องกันความเสี่ยงน้อย ถึงกลาง ที่นำไปซักเพื่อใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง และมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เช่น กรณีการเก็บสารคัดหลั่ง คัดกรองผู้ป่วย ฯลฯ โดยทยอยส่งมอบชุดให้โรงพยาบาลต่างๆ ล็อตแรก 4.4 หมื่นชุดภายในเดือน พ.ค. และเตรียมขยายการผลิตชุด PPE ระดับ 4 สำหรับความเสี่ยงสูงในเดือน มิ.ย.นี้
กรมวิทยาศาสตร์บริการ อีกหน่วยงานในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาและผลิตชุด PPE ตั้งแต่แรก..
น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ให้ข้อมูลว่า ความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตชุด PPE รุ่น “เราสู้” ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากช่วงเริ่มแรกที่ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคใหม่ และการเตรียมชุดต่างๆ ไม่ใช่ว่าจะสามารถซื้อหรือนำเข้าได้ง่ายๆ ไทยจึงต้องพัฒนาและผลิตแบบพึ่งพาตนเอง ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ยั่งยืนกว่า โดยการผลิตเริ่มแรกเราไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งหัวใจสำคัญในการผลิตต้องดู 3 ด้าน คือ ต้องการอะไร ใครผลิต ผลิตแล้วจะน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งในเรื่องความต้องการใช้ก็ต้องตั้งโจทย์ว่า ใช้เพื่อป้องกันอะไรได้บ้าง ใครผลิตมีการประสานหลากหลายหน่วยงานร่วมกับทั้งรัฐและเอกชน มีการประสานทางสิ่งทอของไทย ซึ่งมีศักยภาพมากในการผลิต เมื่อผลิตแล้วต้องมีการทดสอบว่า การตัดเย็บได้คุณภาพหรือไม่ ตะเข็บที่เย็บป้องกันน้ำได้ระดับไหน เรียกว่าเป็นการตัดเย็บแบบพิเศษ โดยการทดสอบได้ผ่านภาคีห้องปฏิบัติการ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
“ส่วนเรื่องความน่าเชื่อถือ กรมวิทยาศาสตร์บริการได้รีวิวข้อมูลทั้งหมดว่า มาตรฐานของการผลิตชุด PPE มีอะไร อยู่ที่ไหน แน่นอนว่าล้วนอยู่ในต่างประเทศ แต่จากการผลิตชุด PPE ทำให้เราสามารถผลิตได้ตามมาตรฐานสากล แต่ในเมื่อเราสามารถผลิตเองได้ เราจำเป็นต้องมีมาตรฐานของตนเอง คือ สมอ. หรือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยได้ยกร่างมาตรฐานการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมอก. ขึ้น และได้เสนอที่ประชุมพิจารณารับร่างมาตรฐานดังกล่าว” น.ส.นิสากร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าความสามารถในการผลิตชุด PPE ของไทยสามารถส่งออกได้หรือไม่ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า ทำได้แน่นอน ปัจจุบันเราสามารถส่งออกตลาดอาเซียนได้ และในอนาคตจะขยายไปยังตลาดอื่นๆต่อไป ซึ่งศักยภาพในการผลิตของไทยเราทำได้ อย่างชุด PPE ระดับ 2 ที่ผลิตออกมาสามารถซักเพื่อนำไปใช้ได้ 20 ครั้ง ขณะที่จีนซักและใช้ซ้ำ 10 ครั้ง ส่วนอินเดียซักและใช้ซ้ำ 5 ครั้ง
สำหรับความคืบหน้าการขยายผลไปสู่การผลิตชุด PPE ระดับ 4 หรือชุดป้องกันความเสี่ยงระดับสูงนั้น
คุณสมคิด รัตนประภาพร นายกสมาคมอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์ไทย เล่าถึงความคืบหน้า ว่า หลังจากก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตชุด PPE ระดับ 2 ซึ่งเป็นชุดป้องกันความเสี่ยงน้อยและปานกลาง ล่าสุดกำลังผลิตชุด PPE ระดับ 4 ที่สามารถป้องกันความเสี่ยงสูง โดยตั้งชื่อว่ารุ่น “เราชนะ” โดยขณะนี้เหลือการทดสอบตะเข็บในการตัดเย็บ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะสามารถนำไปเสนอให้ทางองค์การเภสัชกรรม โดยราคาถูกกว่านำเข้าประมาณ 10-20 %
คุณสมคิด กล่าวเพิ่มว่า สำหรับรุ่นเราชนะ ซึ่งเป็นชุด PPE ระดับ 4 ต้องตัดเย็บด้วยเครื่องจักรพิเศษเพื่อให้ป้องกันน้ำ กันเชื้อโรคและเลือดซึมเข้าสู่ชุด ที่สำคัญยังต้องสวมใส่สบาย ซึ่งเรามีศักยภาพในการผลิตได้ถึงเดือนละ 200,000 ชุด แต่ล็อตแรกที่มีการหารือกับทางองค์การเภสัชฯ น่าจะผลิตอย่างต่ำ 60,000-70,000 ชุด สิ่งสำคัญของชุด PPE ที่คนไทยผลิตขึ้นนั้น ไม่ได้ใช้เพียงอุตสาหกรรมทางการแพทย์เท่านั้น แต่ในอุตสาหกรรมอื่นๆยังสามารถนำไปใช้ได้ ทั้งชุดป้องกันสารเคมี ชุดดับเพลิง เป็นต้น แต่การนำไปใช้ประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือทางการแพทย์ จะต้องมีการผลักดันให้เข้าสู่มาตรฐานและรับรองได้ ด้วย S-Mark ซึ่งเป็นเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้านความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น
- 70 views