จากงานวิจัยในหลายประเทศพบว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย หรือ NCDs ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีการติดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญในปัจจุบัน เมื่อได้มีการศึกษาย้อนหลังพบว่าเกิดจากการสะสมระดับความเครียดที่ผิดปกติตั้งแต่ในวัยเด็ก (Toxic Stress) ไปจนถึงการมีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในวัยผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า ภาวะผันผวนของเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ในโลกยุคดิสรัปชั่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานะครอบครัว โดยพบว่าเด็กในช่วง 6 ปีแรกที่เติบโตมาในภาวการณ์ที่ไม่เหมาะสม ได้รับประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือ Adverse Childhood Experiences อาทิ พ่อแม่ตีกัน ติดคุก ติดยา แตกแยก เป็นโรคจิตหลุด หรือว่าพ่อแม่เลี้ยงดูไม่เหมาะสม ทำร้ายทางอารมณ์ ทอดทิ้งทางอารมณ์ ทำร้ายร่างกาย และทำร้ายทางเพศ รวมทั้งถูกกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม จนก่อให้เกิดระดับความเครียดเป็นพิษ หรือ Toxic Stress เด็กเหล่านี้จะได้รับผลกระทบ โดยเติบโตมามีพัฒนาการที่ล่าช้า มีผลการเรียนแย่ มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนในวัยรุ่น จนกลายเป็นปัญหาการเกิดโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย หรือ NCDs ในวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีการติดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบันเป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควร นำมาสู่ปัญหาสาธารณสุข และพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่
วิธีการป้องกันในระดับทั่วไปไม่ให้เกิดบาดแผลทางใจ คือ การลดความเสี่ยง ตั้งแต่ก่อนจะตัดสินใจอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว การเตรียมพร้อมในการตั้งครรภ์ และการเป็นพ่อแม่ที่ดี เรียนรู้วิธีที่จะทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาว เมื่อเกิดปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข แล้วไปสร้างครอบครัวใหม่ ลูกหลานที่เกิดจากครอบครัวใหม่นี้ก็จะได้รับการถ่ายทอดให้ได้รับผลกระทบในแบบเดียวกัน เป็นโลกผันผวนที่เกิดจากภาวการณ์บาดเจ็บทางใจของเด็ก นำมาสู่การประชุมวิชาการระดับชาติของ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “CHILDHOOD TRAUMA IN DISRUPTIVE WORLD : early intervention, the sooner the better” (ความเจ็บปวดของเด็กในโลกผันผวน: รู้จัก เข้าใจความเจ็บปวดของเด็กในโลกยุคผันผวน และเรียนรู้วิธีการเยียวยารักษาป้องกัน) โดยจัดเป็นครั้งแรกในรูปแบบออนไลน์ ตามมาตรการรักษาระยะห่าง หรือ Physical Distancing ในช่วงวิกฤต Covid-19 นี้ ผ่านแอพพลิเคชัน “ZOOM” ระหว่างวันที่ 25 - 27 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.00 - 16.00 น.
โดยจะมีการปาฐกถา นิตยา คชภักดี ที่กำหนดจัดแสดงในประชุมวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดย ได้รับเกียรติจากองค์ปาฐก 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะมาแสดงปาฐกถา ในหัวข้อ“ความเจ็บปวดของเด็กไทยในโลกผันผวน กับผลกระทบต่อสังคมไทย” และ รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะมาแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ประสาทวิทยาศาสตร์ของเด็กที่ได้รับประสบการณ์เลวร้ายในชีวิต” ร่วมด้วย วิทยากร และคณาจารย์จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ
ผู้สนใจดูรายละเอียดได้ที่ Facebook: สถาบันเด็กมหิดล บริการวิชาการสู่สังคม E-mail: nicfdacademic@gmail.com
- 274 views