กระทรวงสาธารณสุข เปิดรายละเอียดอาการฉุกเฉินปัญหาสุขภาพช่องปากแบบไหน... ต้องเข้ารับบริการทันตกรรมเร่งด่วนช่วงโควิด-19 ส่วนเคสไม่ฉุกเฉิน มีวิธีดูแลช่องปากได้ด้วยตัวเองง่ายๆ ยึดหลัก “2-2-2”
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการเตรียมพร้อมคลินกทันตกรรมบริการประชาชนช่วงโควิด-19 ว่า จริงๆ หากเป็นภาวะฉุกเฉินงานบริการทันตกรรมยังให้บริการอยู่ แต่ในส่วนตามนัดหมายต้องงดไปก่อน อย่างไรก็ตาม หากจะไปบริการทันตกรรม ต้องคัดกรองประวัติตนเองก่อน ซึ่งสามารถเข้าไปในแอปพลิเคชันของรพ.นั้นๆ ได้ หรือโทรไปปรึกษาสอบถามเพื่อนัดมาใช้บริการก่อน
สำหรับอาการฉุกเฉินเร่งด่วน ประกอบด้วย
1.เหงือกหรือฟันปวดบวม ทานยาแก้ปวดยาฆ่าเชื้อหากไม่หาย 2-3 วันให้ไปโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่งมีวิดีโอคอลสอบถามได้
2.เครื่องมือจัดฟัน ฟันเทียมแตกหักทิ่มแทงเนื้อเยื่อ ครอบฟันชำรุด
3.เลือดออกภายในช่องปาก
4.อุบัติเหตุปวดบวมบริเวณใบหน้าและขากรรไกร
5.กรณีการรักษาเฉพาะทางที่มีการดูแลร่วมกันระหว่างแพทย์และทันแพทย์ เช่น ป่วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ซึ่งต้องรักษาฟันก่อน เป็นต้น
ส่วนกรณีไม่เร่งด่วน ประกอบด้วย
1.มีการรักษาต่อเนื่องที่ค้างอยู่ เช่น รักษาคลองรากฟัน ฟันผุลึกที่อุดชั่วคราวอยู่ ให้โทรนัดหมายมาใช้บริการได้
2.การขูดหินปูน อุดฟันสวยงาม จัดฟันใหม่ ตรวจสุขภาพฟันให้เลื่อนไปก่อน
3.กรณีอื่นๆ หากไม่แน่ใจอาการให้โทรสอบถามสถานพยาบาลที่รักษาต่อเนื่อง
“หากเข้าข่ายภาวะอื่นที่ไม่ฉุกเฉิน อาจต้องดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองก่อน จนภาวะความเสี่ยงเริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากไม่แน่ใจโทรสอบถามได้ อย่างไรก็ตาม การเตรียมสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ใช้บริการ คือ 1.การคัดกรองผู้มาใช้บริการ และ2. การจัดระบบบริการของสถานพยาบาลแล้วแต่บริบทในพื้นที่เช่น ช่องทางการนัดหมาย การบรการผ่านวิดีโอคอล การใช้แอปพลิเคชั่น เป็นต้น 3.การทำความสะอาดตามมาตรฐานเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด19 ในสถานบริการ ก่อนรับบริการจะให้บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากโดยเฉพาะ 4. ยึดหลักเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือ" รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าว
ทพญ.วรางคนา เวชวิธี รองผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า เรื่องของสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องป้องกัน และชะลอการลุกลามได้ หากดูแลอย่างถูกต้อง โดยต้องดูแลพื้นฐานคือ การแปรงฟันอย่างคุณภาพ 2 -2 -2 คือ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์, แปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที และไม่กินอาหารและเครื่องดื่มหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง เพื่อลดการเกิดจุลินทรีย์ในช่องปาก โดยหากปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว ตรวจช่องปากเป็นประจำก็จะช่วยได้ และในภาวะปกติควรพบทันตแพทย์ปีละ 1 ครั้ง
“สำหรับการเก็บและการล้างแปรงสีฟัน อย่าเก็บไว้ในแก้วเดียวกันสำหรับคนที่อยู่เป็นครอบครัว และควรเอาด้ามลง ต้องเก็บให้ห่างๆกัน และยาสีฟันควรแยกคนละหลอด เพื่อให้เป็นแนวทางมาตรฐาน เพราะเชื้อโรคชนิดนี้ชอบความชื้น” ทพญ.วรางคนา กล่าว และว่า ทั้งนี้ หากต้องไปพบทันตแพทย์ เมื่อผ่านการคัดกรองและโทรนัดแล้ว ต้องทำความสะอาดช่องปากก่อน และเมื่อไปถึงต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่บุคลากรทางการแพทย์ก่อนว่า มีความเสี่ยงอะไร อย่างไรหรือไม่ และเมื่อเข้าไปคลินิกต้องสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของในคลินิก ซึ่งทางทันตแพทย์จะมีน้ำยาให้บ้วนปากก่อน จนกระทั่งทำฟันเสร็จเรียบร้อย ก็อยากให้สวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนกลับ
- 2934 views