ผลวิจัยปี 2561 ชี้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีระบบข้อมูลข่าวสารและมาตรการควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่แพร่มาจากต่างประเทศของประชาชนในเขตเมืองอย่างชัดเจนและรัดกุม

เป็นปกติทุกวันที่ประชาชนเฝ้ารอรายงานข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การรายงานข้อมูลข่าวสารเป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมโรคที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ

หากย้อนกลับไปดู รายงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.พนม คลี่ฉายา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเผยแพร่ในปี 2561 ชี้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีระบบข้อมูลข่าวสารและมาตรการควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่แพร่มาจากต่างประเทศของประชาชนในเขตเมืองอย่างชัดเจนและรัดกุม กล่าวคือ

ข้อมูลเชิงลึกจากแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และสื่อมวลชนในจังหวัดที่มีด่านตรวจคนเข้าเมืองระหว่างประเทศ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย หนองคาย อุบลราชธานี และสงขลา และกรุงเทพมหานคร และผลสำรวจข้อมูลประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอที่มีด่านตรวจคนเข้าเมืองหรือมีสนามบินนานาชาติใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย ตาก สงขลา หนองคาย อุบลราชธานี และภูเก็ต พบว่า กระทรวงสาธารณสุขมีระบบงานและมาตรการควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่แพร่มาจากต่างประเทศอย่างชัดเจนและรัดกุม มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขของต่างประเทศอย่างเข้มข้น มีมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการระบาด และมีแผนการบริหารการสื่อสารความเสี่ยง

การรับรู้และการตื่นตัวจากโรคติดต่ออุบัติใหม่

งานวิจัยด้านการสื่อสารครั้งนี้ระบุว่า ประชาชนมักจะมีการตื่นตัวเมื่อโรคเข้าใกล้ตัวและเกิดการตื่นตัวขึ้นเฉพาะพื้นที่ที่ระบาด เมื่อการระบาดเข้ามาใกล้หรือเข้ามาในประเทศจะมีการตื่นตัวมากขึ้นตามความกังวลใจเกี่ยวกับอันตรายของโรคที่ใกล้ตัวมากขึ้น และมักจะตื่นตัวในช่วงแรกที่มีข่าวการระบาด แต่การตื่นตัวก็จะลดลงเมื่อข่าวเกี่ยวกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ไม่ได้รับการรายงานในสื่อมวลชน

เมื่อมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการระบาด ความรุนแรงของโรค การไม่มียารักษา การเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อมากขึ้น ผนวกกับการได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ จนกลายเป็นความตื่นตระหนก ทั้งนี้การตื่นตระหนกของประชาชนจะลดลงได้ ด้วยการได้รับข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการและการดำเนินงานเกี่ยวกับการควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจนเกิดความมั่นใจในมาตรการ และการดำเนินงานที่สามารถคัดกรอง ป้องกัน และควบคุมโรคที่จะระบาดเข้ามาในประเทศได้

การสื่อสารเกี่ยวกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่แพร่มาจากต่างประเทศ มีทั้งการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนในลักษณะการรายงานข่าวของสื่อมวลชน และการสื่อสารจากส่วนงานสาธารณสุขไปยังประชาชนในพื้นที่ โดยมีแนวทางการสื่อสารทั้งแบบการให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดการรับรู้ถึงความรุนแรงของโรค เพื่อกระตุ้นเตือนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการให้ข้อมูล ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค นำไปสู่ความเข้าใจ และเสนอทางเลือกเพื่อความปลอดภัยให้นำไปปฏิบัติด้วยตนเอง

การเข้าถึงข่าวสารโรคติดต่ออุบัติใหม่

ในขณะที่ การเข้าถึงข่าวสารเกี่ยวกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ฯ ของประชาชน พบว่ามีการเข้าถึงผ่านสื่อมวลชน สื่อบุคคล ได้แก่ อสม. แกนนำสุขภาพครอบครัว (กสค.) เพื่อนบ้าน อาสาสมัครต่างด้าว สื่อรณรงค์เฉพาะกิจ สื่อท้องถิ่น สื่อชุมชน และสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีระดับความถี่การเปิดรับข่าวสารโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าโทรทัศน์คือสื่อที่เปิดรับด้วยความถี่ระดับบ่อยๆ และสื่อที่เปิดรับระดับปานกลาง ได้แก่ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เพื่อน แพทย์ พยาบาล อสม. เคเบิลทีวี โรงพยาบาล วิทยุชุมชน เฟซบุ๊ก (Facebook) ไลน์ (LINE) เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ทั่วไป เว็บไซต์สุขภาพทั่วไป ป้ายไวนิล แผ่นพับ หอกระจายข่าว และพบว่าประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอยู่ในระดับปานกลาง แต่ความเข้มข้นในด้านจำนวนช่องทาง และการติดตามข่าวสารอยู่ระดับน้อย นอกจากนี้ความกระตือรือร้นในการเข้าถึงข่าวสาร และความผูกพันกับเนื้อหาอยู่ในระดับปานกลาง ความเข้าใจสาระเนื้อหาในภาพรวมพบว่ามีความเข้าใจในระดับดี

ความเข้าใจต่อสถานการณ์การระบาด

ผลวิจัยระบุว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจด้านสถานการณ์การระบาดในเรื่องโอกาสการติดเชื้อมากที่สุด มีเข้าใจต่อเรื่องที่ยังไม่มียารักษามากที่สุด และให้ความสำคัญในการติดตามข่าวอย่างต่อเนื่องเมื่อเกิดการระบาดมากที่สุด นอกจากนี้ การประเมินคุณค่าและความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารพบว่าโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าประชาชนพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะใช้ดูแลตนเองให้ปลอดภัยอยู่ในระดับสูง และมีการนำข้อมูลข่าวสารไปใช้ประโยชน์ในระดับมาก โดยนำไปใช้ปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการระบาด และนำไปใช้ดูแลสุขภาพของตนเองในการกินอยู่อย่างถูกลักษณะ สำรวจอาการเจ็บป่วยของตนเอง และการแสวงหาและติดตามข่าวสาร

งานวิจัย แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความเข้าใจเนื้อหาข่าวสารที่รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ และมีการนำข้อมูลข่าวสารไปใช้ประโยชน์ อันส่งผลดีต่อการควบคุมโรคในวงกว้าง

อ้างอิง

พนม คลี่ฉายา. (2561). การเข้าถึง เข้าใจ ประเมิน และใช้ข้อมูลข่าวสารสุขภาพเพื่อการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่แพร่มาจากต่างประเทศของประชาชนในเขตเมือง. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.