สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งกำลังมีทีท่าว่าจะค่อยๆ สงบลงในอนาคต หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นและจะอยู่ต่อไปแทนที่ นั่นคือรูปแบบของชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่จะเปลี่ยนแปลงบริบทการใช้ชีวิตของผู้คนหลากหลายด้าน
ไม่เพียงในแง่พฤติกรรมการใช้ชีวิตเท่านั้น หากแต่มองลึกลงไปกว่านั้นถึงคำถามและความหมายของการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป โดยเฉพาะกับในบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ได้เป็นกำลังหลักอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และได้พบกับมุมมองต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
เป็นที่มาของกิจกรรมการพูดคุย HA LIVE ในหัวข้อ วีรบุรุษเสื้อกาวน์ นางฟ้าสีขาว โดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนถึงบทบาทหน้าที่ พร้อมกับแนวคิดการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าและความหมาย ด้วยความมีสติ รับรู้ และเข้าใจ
ดร.ดวงสมร บุญผดุง ผู้ทรงคุณวุฒิ สรพ. ระบุว่า ที่ผ่านมาเสียงชื่นชมต่างๆ ถูกส่งตรงไปยังบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ได้ทำงานด้วยความตั้งใจ เหนื่อยยาก และเสียสละ ท่ามกลางความคาดหวังของทุกฝ่าย ในปรากฎการณ์ที่นับได้ว่าเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์
สำหรับสิ่งเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “จิตวิญญาณ” ที่มีอยู่แล้วในตัวของทุกคน ซึ่งอาจแสดงออกมามากหรือน้อยขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ กล่าวโดยรวมแล้วคือการทำความดี ทำในสิ่งที่มีคุณค่า หรือเป็นการที่มีจิตใจสูงพร้อมทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อผู้อื่น
ทั้งนี้ ภายใต้การระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง และเป็นสถานการณ์ที่มีความยากลำบาก หนึ่งในความโชคดีของประเทศไทยคือการมีระบบบริการสุขภาพที่ดี จากการพัฒนาระบบมาตรฐานมาตลอดกว่า 20 ปี โดยมีบุคลากรเป็นความหวังของสังคมในการต่อสู้
“บุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ด่านหน้า จึงมีโอกาสได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในเหตุการณ์ระดับโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ถูกรับรู้และมองเห็น โดยทุกคนพร้อมขนานนามให้ว่าเป็นผู้กล้าและเสียสละ นั่นเองก็ยิ่งช่วยดึงศักยภาพที่อยู่ภายในตัวตนของบุคลากร เจ้าหน้าที่ต่างๆ งอกงามขึ้นเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ให้ทำงานได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” ดร.ดวงสมร ระบุ
เธอขยายความว่า จิตวิญญาณนั้นเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ภายใน และจะเติบโตงอกงามขึ้นมาได้ในสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต้องการ ซึ่งได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในปรากฎการณ์ครั้งนี้ โดยคนที่ไม่รู้จักกันพร้อมทำงานให้กันและกันได้ และยังสะท้อนผ่านการทำงานโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ของบุคลากร ภายใต้สถานการณ์ที่อาจเสี่ยงติดเชื้อหรือถึงชีวิต
ดร.ดวงสมร สรุปว่า การที่จิตวิญญาณขึ้นได้นั้นมีองค์ประกอบหลัก 4 อย่าง คือ 1. ชีวิตภายใน การรับรู้ว่าเราคือใคร กำลังจะทำอะไร และมีเป้าหมายอย่างไร 2. การได้ทำงานที่มีความหมายต่อผู้อื่น 3. การมีจิตสำนึกร่วมของความรัก ความเป็นพี่น้องกับผู้อื่น 4. การเชื่อมต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือศรัทธา ไม่ว่าจะพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือพระรัตนตรัย ที่ทำให้เรามีพละกำลังในยามที่ท้อแท้ได้
นอกจากบุคลากรและเจ้าหน้าที่ในระบบสุขภาพแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิ สรพ. ยังสะท้อนว่าสถานการณ์นี้ ได้ทำเราเห็นสังคมที่ยกระดับของความเป็นมนุษย์ที่เกื้อกูลกันมากขึ้น เช่น ประชาชนที่ร่วมช่วยเหลือกันในสิ่งต่างๆ การเกิดวัฒนธรรมใหม่ ไม่ว่าจะข้าวแลกปลา การมีสิ่งของมามอบให้แก่กัน หรือการที่ประชาชนพร้อมสนับสนุนโรงพยาบาลและบุคลากรในทุกด้าน เกิดเป็นสังคมที่งดงามและมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วมากมาย
“สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศไทย ในสถานการณ์ที่เราอยู่รอดและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีความหมาย ความศรัทธาที่เกิดขึ้นต่อโรงพยาบาล ต่อระบบบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นที่พึ่งพิงและเป็นความหวังของสังคม ประชาชนที่ทิ้งบุคลากรไม่ได้ และบุคลากรที่สัมผัสได้ว่าไม่โดดเดี่ยว เป็นการดูแลโดยไม่ทิ้งกัน” ดร.ดวงสมร ระบุ
ด้าน รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มุมมองว่า แม้โดยวิชาชีพผู้ให้บริการด้านสุขภาพจะเป็นวิชาชีพที่มีความหมายอยู่ในตัวเอง แต่ในระยะหลังจะพบว่าบุคลากรทางสาธารณสุขเริ่มรู้สึกไม่มีความสุขกับการทำงาน ที่อาจรู้สึกว่าเป็นงานหนักจากปัญหาการขาดแคลนด้านต่างๆ
“แม้โดยเนื้องานแล้วจะเป็นงานที่มีความหมายในการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น แต่เมื่อมีการทำไปนานจนถึงจุดหนึ่ง ก็อาจเกิดเป็นความคุ้นชิน เริ่มรู้สึกว่าเป็นเพียงการทำตามหน้าที่ ไม่ได้ดึงสิ่งที่มีความหมายออกมา” อาจารย์หมอรายนี้ให้ภาพเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.ชเนนทร์ มองว่าสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ได้มีส่วนทำให้งานเหล่านี้กลับมามีความหมายมากขึ้น เมื่อความหมายของเนื้องานเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกคน และทุกคนล้วนให้การเฝ้าติดตามอย่างชัดเจน
“COVID-19 ได้ทำให้เกิดความหมายต่อบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อยู่ด่านหน้าที่ต้องทำให้สถานการณ์ผ่านพ้นไปได้ เกิดความรู้สึกปลื้มปริ่มศรัทธาในเนื้องานมากขึ้น สังเกตได้ว่าแม้แต่ผู้ที่อยู่จุดคัดกรอง คอยยิงอุณหภูมิวัดไข้คนที่เข้ามาในอาคาร ยังมีความตั้งใจวัดอย่างมาก เพระความหมายสำหรับเขาคือการคัดกรองให้ได้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้ที่ผ่านเข้าไปข้างในนั้นปลอดภัย” รศ.นพ.ชเนนทร์ ให้ภาพ
ฉะนั้น รศ.นพ.ชเนนทร์ สรุปว่า COVID-19 ได้ทำให้บุคลากรต้องกลับมาหวนระลึกถึงว่า งานกิจวัตรที่เราทำอยู่นั้นมีความหมายมากเพียงใด ซึ่งจะเห็นได้ว่าบุคลากรหลายส่วนต่างเกิดความทุ่มเทในการทำงาน เช่นเดียวกับที่มีมากขึ้นคือการเกิดนวัตกรรมการจัดการต่างๆ เมื่อการทำงานนั้นมีความหมาย และมีอิสระในความคิด ทำให้ไอเดียต่างๆ หลั่งไหลออกมา ซึ่งพลังใจที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังจะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ เป็นส่วนที่สร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นต่อไป
- 104 views