ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 อย่างน้อยก็ยังได้เห็นแง่มุมดีๆ ว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้คนไทยส่วนใหญ่ต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามแต่ความถนัดและกำลังทรัพย์ของตน บ้างลงทุนผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์มอบแก่โรงพยาบาล บ้างก็ซื้อหาหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เฟสชิลด์ (Face shield) มาให้บุคลากรทางการแพทย์ บ้างก็แจกเงินและอาหารแก่ผู้ประสบความเดือดร้อนจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ของภาครัฐ
ในบรรดาความร่วมไม้ร่วมมือที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ยังมีอีกกลุ่มที่น่าสนใจอย่างมาก นั่นก็คือกลุ่มบริษัท Start up ภายใต้ชื่อสมาคมไทยเทคสตาร์ทอัพ ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มของตัวเองมาร่วมกันพัฒนาเป็นเซอร์วิสด้านต่างๆ เพื่อช่วยในการให้ความรู้ ป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้ชื่อ "เป็ดไทยสู้ภัย" โดยขณะนี้มีหน่วยงานรัฐหลายแห่งได้นำเอาระบบต่างๆ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
"รังสรรค์ พรมประสิทธิ" กรรมการสมาคมไทยเทคสตาร์ทอัพ กล่าวถึงเป็ดไทยสู้ภัยว่า จุดเริ่มต้นมาจากการพูดคุยกันในกลุ่มว่าพวกเราคือสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ เราจะนั่งดูเหตุการณ์นี้ให้ผ่านไปเฉยๆ ให้รัฐบาลมาแก้ปัญหาหรือจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง จึงได้นำเอาเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพหลายๆ บริษัทมาดูกันว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบนี้ จะสามารถใช้เทคโนโลยีไหนไปช่วยเรื่องไหนได้บ้าง โดยเลือกใช้ชื่อและสัญลักษณ์เป็น "เป็ด" เพราะมองว่าสื่อที่จะทำให้เข้าถึงคนได้ง่าย จดจำได้มากที่สุดคือการ์ตูน จึงทำชื่อและตัวการ์ตูนรูปเป็ดเพื่อเอามาสู้กับโควิด-19
ทั้งนี้เซอร์วิสต่างๆ ของเป็ดไทยสู้ภัย จะมีจุด Entry Point อยู่ที่เฟสบุ๊กเพจ "เป็ดไทยสู้ภัย" โดยสามารถแบ่งได้ 5 ภารกิจดังนี้
1.เป็ดข่าวสาร เป็นหัวข้อด้านข้อมูลข่าวสารที่ช่วยคัดกรองข่าว Fake news และเผยแพร่แต่ข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ
2.เป็ดคัดกรอง เป็นระบบคัดกรองที่สมาคมฯทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค ช่วยในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง หากมีคนเข้าไปทำแบบคัดกรองแล้วพบว่ามีโอกาสติดเชื้อสูง ก็จะส่งต่อเข้าระบบ Telehealth ซึ่งจะมีแพทย์อาสาคอยให้คำปรึกษาและคัดกรองซ้ำอีกครั้งว่าใช่ผู้มีความเสี่ยงที่ควรไปโรงพยาบาลจริงหรือไม่ เมื่อคัดกรองเสร็จแล้วก็จะส่งต่อไปโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และขณะนี้กำลังขยายไปที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่ จ.นครราชสีมา และในอีกหลายๆ โรงพยาบาลที่มีปัญหาด้านการคัดกรองเนื่องจากคนไข้ล้นโรงพยาบาล
"คนจะเสียชีวิตก็ต่อเมื่อ capacity ในการรักษาของโรงพยาบาลไม่เพียงพอกับจำนวนคนไข้ สิ่งที่เราคิดคือทำอย่างไรให้คนที่ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ไม่ต้องไปโรงพยาบาลจนกว่าจะมีความจำเป็นจริงๆ จึงออกมาเป็นระบบคัดกรองแบบนี้" รังสรรค์ กล่าว
ทำแบบทดสอบวัดระดับความเสี่ยง http://covid19.thaitechstartup.org/
3.เป็ดติดตาม แบ่งเป็นระบบการติดตาม 2 แบบ คือ 3.1 กลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงต่ำ ยังไม่ได้ไปโรงพยาบาล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเพราะอาการยังไม่แสดงออก ก็จะให้คนกลุ่ม Add ไลน์ไว้ แล้วทุกวันจะมีข้อความไปสอบถามอาการว่าเป็นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร หากเริ่มมีอาการก็จะปรับเข้าสู่ระบบ Telehealth เพื่อปรึกษาแพทย์และเข้ากระบวนการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต่อไป
3.2 กลุ่มเสี่ยงอาจเป็น super spreader ซึ่งถ้าปล่อยเข้าไปในสังคมอาจเกิดการระบาดแบบเดียวกับเคสสนามมวย กลุ่มนี้จะมีแอปพลิเคชัน "เป็ดคีปเปอร์" ทำหน้าที่คอยตรวจสอบผู้ที่จะเข้าพื้นที่หรือเข้าไปในอาคารว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน สมควรให้เข้าไปในพื้นที่หรือไม่ โดยกำลังจะเริ่ม implement ที่ จ.สงขลา เพื่อรองรับกลุ่มคนไทยในมาเลเซียที่กำลังจะกลับบ้าน
"ปกติเวลาจะเข้าสถานที่ ต้องมีการสแกนอุณหภูมิ แต่มันก็บอกไม่ได้ 100% แอปฯเป็ดคีปเปอร์จะทำหน้าที่ดึงข้อมูลจากทั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง กรมควบคุมโรค และโรงพยาบาล ทำให้ทราบว่าใครมีความเสี่ยงบ้าง แล้วเจ้าของสถานที่หรือ รปภ.ของสถานที่นั้นๆ จะติดตั้่งแอปฯนี้ไว้ เมื่อมีคนจะเข้าพื้นที่นอกจากสแกนอุณหภูมิแล้ว สามารถเอาบัตรประชาชนมาสแกน แล้วแอปฯจะบอกว่าคนๆ นี้มีความเสี่ยงอย่างไร ควรให้เข้าสถานที่หรือไม่" กรรมการสมาคมไทยเทคสตาร์ทอัพ กล่าว
4.เป็ดที่พัก เป็นระบบที่รวบรวมโรงแรมที่ปรับสภาพพร้อมรองรับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เนื่องจากพบว่ายังมีช่องว่างในกรณีกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้อ บางเคสต้องรอ 1-2 วัน คนกลุ่มนี้จะให้ไปอยู่ที่ไหน จะให้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวและเดินทางด้วยรถสาธารณะหรือไม่ ดังนั้นจึงมีโรงแรมกลุ่มนี้เข้าไปอุดรอยรั่วระหว่างรอยืนยันผล นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วสถานที่กักตัวของภาครัฐไม่เพียงพอได้ด้วย เช่นเดียวกับในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันจนจำนวนผู้ป่วยพุ่งขึ้นมา โรงแรมในกลุ่มเป็ดที่พักก็สามารถรองรับคนไข้ที่ล้นจากโรงพยาบาลได้เช่นกัน
5.เป็ดส่งของส่งคน เป็นระบบที่ต่อเนื่องจากเป็ดที่พัก เพราะมองว่าไม่อยากให้คนที่มีความเสี่ยงเดินทางปะปนกับประชาชนทั่วไป จึงมีการตกแต่งรถให้ปลอดภัยสำหรับคนขับเพื่อใช้รับส่งคนกลุ่มนี้
"เพจเป็ดไทยสู้ภัยเป็นจุด Entry Point หรือจุดแรกในการติดตามข้อมูลข่าวสารและคัดกรอง ส่วนภารกิจอื่นๆ ที่ตามมาจะต่อเนื่องจากภารกิจหลังการคัดกรอง เช่น ต้องการรถขนส่ง ต้องการที่พัก ต้องการติดต่อแพทย์ ก็จะมีกระบวนการต่อเนื่องกันไป ยกเว้นที่ทำแยกออกมาต่างหากคือ เป็ดคีปเปอร์ เพราะผู้ที่มีหน้าที่ใช้แอปฯนี้จะเป็นเจ้าของสถานที่เป็นหลัก" รังสรรค์ กล่าว
รังสรรค์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีประมาณ 1 แสนเคสที่ไหลเข้ามาในแพลตฟอร์มและพบว่าสามารถช่วยในการคัดกรองควบคุมโรคได้ผลดีจริง จึงขยายผลไปยังต่างจังหวัด ไปด่านตรวจคนเข้าเมือง ไปที่โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ โดยนอกจากที่ จ.สงขลา และนครราชสีมาแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างประสานงานกับ จ.เชียงใหม่ รวมทั้งพื้นที่ตามแนวชายแดนซึ่งจะเจอปัญหาการข้ามแดนของผู้คนต่างๆ
"เรานำเสนอว่าเรามีแพลตฟอร์มแบบนี้นะ ทดสอบกันมาแล้วว่าใช้งานได้จริง คุณสามารถเอาไปปรับใช้ได้เลย สถานการณ์ตอนนี้แต่ละฝ่ายต่างก็เข้าไปช่วยกัน ซึ่งเราเองก็อยากมีส่วนช่วยทำให้ประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติ สามารถอยู่กับเชื้อโควิด-19 ได้ ทุกสิ่งดำเนินไปได้โดยที่ประเทศไม่เสียหายมากกว่านี้" รังสรรค์ กล่าวทิ้งท้าย
- 196 views