“การทำงานในบทบาทของ อสม.จะให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแรกคือ ต้องมีใจรัก และตนเอง ครอบครัว รวมทั้งคนรอบข้างจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชนได้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดี และต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง”
นางโสรญา ช่วยชะนะ อสม.ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2563 สาขาการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ในพื้นที่หมู่ที่ 12 ตำบลน้ำพุด อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง จากคำกล่าวของโสรญา ในเบื้องต้นทำให้รับรู้ได้ว่าหัวใจสำคัญของการเป็น อสม.ที่ประสบความสำเร็จได้จะต้องเป็นอย่างไร
หากย้อนไปในวัยเด็กของโสรญา ที่ชอบคลุกคลีอยู่กับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ทำให้โสรญาซึมซับกับการทำงานด้านสาธารณสุขมาโดยตลอด เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จึงได้ใช้เวลาที่เหลือมาเป็น อสม.มาเป็นเวลาถึง 20 ปีมาแล้วโสรญาบอกว่า 127 ครัวเรือนในหมู่ที่ 12 จะมีสุขภาพอนามัยที่ดีได้ ชุมชนนั้นๆจะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อที่จะเอื้อให้คนในชุมชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี งานที่ทาง อสม.หมู่12 ทำคือ การรณรงค์ให้ชาวบ้านในชุมชนรู้จักการคัดแยกขยะ เพราะขยะคือแหล่งของการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยมีหนูและแมลงวันเป็นพาหะในการแพร่โรคต่างๆ การทำงานจึงเริ่มจากตนเองและครอบครัวทำเป็นตัวอย่างต้นแบบให้คนในชุมชนเห็นและตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการคัดแยกขยะ และนำไปสู่การปฏิบัติตามของคนในชุมชน จนทำให้หมู่ 12 ไม่มีถังขยะ ไม่มีรถเก็บขยะ จนปัจจุบันหมู่ 12 ตตตำบลบ้านน้ำผุดได้รับการยกย่องให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบคัดแยกขยะ
“ขยะที่เป็นเศษอาหารเราจะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก อะไรที่รีไซเคิลได้จะนำไปขายหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้วที่เราทำเรื่องการคัดแยกขยะ โดยมีผู้นำท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆในกรณีที่ต้องเก็บขยะที่เป็นอันตราย เช่น แบตเตอร์รี่ ถ่านไฟฉาย”
โสรญา กล่าวว่า หลังจากที่เราให้ความรู้ และรณรงค์ให้คนในชุมชนได้รับรู้ประโยชน์ของการคัดแยกขยะแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากชุมชนจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด ส่งผลให้คนในชุมชนพลอยมีสุขภาพดีไปด้วย เชื่อหรือไม่ว่า เป็นเวลา 8 ปีมาแล้วที่ชุมชนแห่งนี้ปลอดไข้เลือดออก นอกจากนี้เรายังดูแลเรื่องพฤติกรรมการบริโภคของผู้มีโรคประจำตัวในแต่ละครัวเรือน เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะชอบดื่มน้ำอัดลมเป็นพิเศษ จึงทำให้อาการไม่ดีขึ้น ในฐานะ อสม.ที่ห่วงใยสุขภาพของคนในชุมชน จึงเข้าไปช่วยแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ทำให้ทุกวันนี้ผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าวสุขภาพดีขึ้น จนปัจจุบันกลายเป็นผู้ป่วยต้นแบบ ให้ผู้ป่วยอื่นๆปฏิบัติตาม
เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก โสรญา บอกว่า นับว่าเป็นความโชคดีที่ในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบยังไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 แต่ทาง อสม.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงออกให้ความรู้เรื่องของไวรัสโควิด -19 และยังแนะแนวให้ความรู้การดูแลสุขภาพของชุมชน รวมถึงความรู้และวิธีปฏิบัติในด้านอื่นๆ อาทิ ด้านสุขภาพจิต การเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อ การตรวจคัดกรองหากลุ่มผู้ติดเชื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ในสถานการณ์โรคติดต่อจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด -19 สบส.ได้มอบหมายให้ อสม.ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้กับชาวบ้านทุก โดยเบื้องต้นจะแนะนำวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างไข้หวัดและอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมแนะนำวิธีป้องกันเบื้องต้น โดยการรักษาระยะห่างจากผู้ที่มีอาการป่วย ไอหรือจาม และได้แจกหน้ากากอนามัยและเจลทำความสะอาดมือ ที่ทำมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน พร้อมระดมคนในหมู่บ้านร่วมเย็บหน้ากากอนามัยจำนวน 8,000 ชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้ทั่วถึงทุก
โสรญา กล่าวว่า ในปี 2563 นี้ หากไม่มีเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ตนเองและ อสม.ร่วมทั้งพื้นที่จะจัดทำโครงการต้นแบบบพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ซึ่ทาง ทีม อสม.ในพื้นที่จะเข้าไปดูในเรื่องการจัดการขยะ อาหารปลอดภัย ด้วยการลงพื้นที่ในหมู่บ้าน ตำบล เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่โสรญาได้ใช้การทำงานของตนเองเป็นบทพิสูจน์ให้คนในชุมชนเห็น ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี ในทุกด้าน ทั้งด้านการรักษาความสะอาด รวมถึงด้านจิตอาสา ต้องลงมือปฏิบัติจริงทำจริง ในการทำงานทุกครั้งที่ลงพื้นที่จะมีการให้ความรู้ร่วมกับผู้นำชุมชน ส่วนทีม อสม.จะเน้นสื่อสารให้ชาวบ้านตระหนักถึงสุขอนามัยที่ดีมาจากการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด โดยใช้วิธีคัดแยกขยะ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อโรค เมื่อเราทำเป็นต้นแบบ คนในชุมชนจะเกิดความตระหนักรู้และนำไปปฏิบัติตาม
ทั้งนี้การทำงานของ อสม.ที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างแรกที่ต้องมี คือ มีใจรัก นอกจากนี้ตนเอง ครอบครัว รวมทั้งคนรอบข้างจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชนได้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดี และต้องทำงานอย่างต่อเนื่องงผลให้การทำงานของ อสม.ในพื้นที่ประสบความสำเร็จ
- 883 views