เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.) กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ขอคนไทยอย่าประมาท เพราะในต่างประเทศก็เห็นแล้วว่าหากประมาทตัวเลขผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ยังจำเป็น อย่างไรก็ตามมาตรการในการต่อสู้กับโควิด-19 เชื่อว่าทำให้ทุกคนเครียด หากไม่จัดการจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
“ขณะนี้มีการสำรวจ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม มีความเครียดอาจจะนำสู่ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตายในที่สุด คือ 1. กลุ่มผู้ที่กักกัน ผู้ติดเชื้อ 2. กลุ่มเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิต 3.บุคลากรทางการแพทย์ ที่อาจจะมีปัญหาหมดไฟ และผิดหวังจากการรักษาคนไข้ไม่สำเร็จ และ 4. ประชาชนทั่วไป ชุมชน” นายสาธิต กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่า ม.ค.-ก.พ. ยังมีคนปรึกษาน้อย แต่ตั้งแต่เดือนมี.ค. มีการใช้บริการมากขึ้น โดย 51.85% ปรึกษาเรื่องเครียดจากวิตกกังวล รองลงมา 37.99% กลุ่มจิตเวชเดิม ดังนั้นหากมีปัญหาขอให้ปรึกษาจิตแพทย์ หรือโทรสายด่วน 1323 และเปิดแนวรุกให้บุคลากรไปพบปะประชาชนที่มีความเครียด และจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสุขภาพใจทางออนไลน์ด้วย
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตของประชาชนจะแบ่งเป็นระลอกคลื่น มาตั้งแต่การระบาดรอบแรก รอบสอง ส่วนคลื่นระลอกที่ 4 จะมาหลังการระบาดราวๆ 1-2 เดือน เป็นปัญหาทางจิตใจ ปัญหาเศรษฐกิจ และภาวะหมดไฟ หรือความเหนื่อยล้าของคนทำงาน หลังเผชิญความเครียดมาเป็นเวลานาน ซึ่งที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตใจทำการสำรวจความเครียดของกลุ่มต่างๆ 3 รอบ รอบล่าสุดคือ 13-19 เม.ย. พบว่าคนเครียดลดลงจากการสำรวจ 2 รอบแรก เพราะปรับตัวได้ แต่ก็มีประมาณ 10% ที่ปรับตัวไม่ได้ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนเครียดมากคือการตีตรา
ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตวางเป้าหมายในการดูแล 2 ประการคือ 1.ลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตระดับบุคล ต้องเข้าถึงบริการ ต้องได้รับการดูแล 2.การเพิ่มศักยภาพของครอบครัวและชุมชนเพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพจิต หลักการคือ ประชาชนต้องรู้สภาวะเครียดกังวลของตัวเองว่าอยู่ขั้นไหน เพราะถ้าเครียดนาน เครียดมากจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย ยิ่งผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราไปไหนมาไหนไม่ได้ ปัญหารอบด้านที่เข้ามามีผลต่อตัวเลขการฆ่าตัวตาย ซึ่งในสมัยต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2 ต่อแสนประชากร หรือ 2 คน ต่อวัน และทำให้อัตราการการฆ่าตัวตายเฉลี่ยในช่วงนั้นไปถึง 8.59 ต่อแสนฯ รอบนี้จะต้องช่วยกันไม่ให้มีการฆ่าตัวตายเพิ่มเกิน 1 คนต่อวัน และไม่ให้อัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยไปถึง 8.59 ต่อแสนฯ เหมือนตอนนั้น จากตอนนี้อัตราการฆ่าตัวตายของไทยอยู่ที่ 6.31 ต่อแสนฯ
ดังนั้นวิธีการคือให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เคาะประตูบ้านกลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองสุขภาพจิต หากมีปัญหาก็ส่งต่อจิตแพทย์ดูแล ดังนั้นอย่าแปลกใจหากมีบุคลากรทางด้านจิตเวชโทรไปหา ส่วนคนที่ยังไม่เสี่ยงการเคาะประตูบ้านยังไปไม่ถึงสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น Mental Health Check Up เพื่อวัดระดับความเครียดของตัวเองก่อนได้ หากมีปัญหาให้รีบปรึกษาจิตแพทย์ หรือโทร 1323 และขอให้ยึดคาถา “อึด ฮึด สู้” ประเทศไทยเคยผ่านศึกมานับไม่ถ้วน อย่างน้ำท่วมปี 2554 คนได้รับผลกระทบกว่า 10 ล้านคนเราก็ผ่านมาได้ นี่ก็เป็นอีกศึกหนึ่งที่เราต้องอึด ฮึด สู้ ให้ได้
- 87 views