กรมควบคุมโรคแจงผู้ที่ได้รับการส่งตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 มี 3 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และ ผู้สงสัยว่าป่วยหรือติดเชื้อ พร้อมแจงยิบนิยาม PUI ฉบับล่าสุด ส่วนรหัสผู้สงสัยติดเชื้อ (SAT Code) ไม่ต้องโทรขอจาก สคร.แล้ว สามารถลงทะเบียนในระบบรายงานแล้วออก SATCode โดยอัตโนมัติได้เลย
พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมชี้แจงแนวทางการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 13 เม.ย. 2563 โดยระบุว่าการเฝ้าระวังโรคในปัจจุบันมีการเฝ้าระวัง 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 2.กลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient Under Investigation : PUI) และ 3.การสอบสวนโรคในกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
ขณะเดียวกัน ผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหมดจะมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.กลุ่ม PUI ซึ่งได้รับการตรวจวินิจฉัยตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือกรณีผู้ที่มีอาการแต่ไม่เข้าเกณฑ์ PUI แต่แพทย์ก็พิจารณาส่งตรวจ ก็สามารถส่งตรวจได้เช่นกัน
ทั้งนี้ กรณีที่กลุ่ม PUI มีอาการโรคจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ในกรณีที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แพทย์จะรักษาตามอาการและกักตัวที่บ้าน 14 วัน ส่วนกลุ่ม PUI ที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ก็ให้กลับบ้านได้แต่ต้องแยกกักสังเกตอาการ 14 วัน โดยเมื่อได้รับผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการแล้ว โรงพยาบาลจะแจ้งผลให้ทราบ ถ้าตรวจพบเชื้อก็จะรับกลับมารักษาต่อไป
2.กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แบ่งเป็น กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงที่ต้องเก็บตัวอย่างส่งตรวจแม้ไม่มีอาการ ประกอบด้วย สมาชิกร่วมบ้านทุกคน, บุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุขที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย โดยไม่ได้สวม PPE ที่เหมาะสม และ ผู้คลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยอย่างชัดเจนโดยไม่สวมหน้ากากป้องกัน
ส่วนกลุ่มสัมผัสที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจเมื่อมีอาการ ประกอบด้วย ผู้ท่องเที่ยวร่วมกลุ่ม, ผู้โดยสารแถวเดียวกัน + 2 แถวหน้า + 2 แถวหลัง, พนักงานบนเครื่องบิน โซนผู้ป่วย, เจ้าหน้าที่ด่านที่ตรวจผู้ป่วย, ผู้ป่วยอื่นที่อยู่ห้องเดียวกัน และ ผู้ร่วมงาน ร่วมโรงเรียน ที่พบปะกับผู้ป่วย
ทั้งนี้ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะต้องกักตัว 14 วันทุกราย ดังนั้นแม้ไม่ได้รับการตรวจก็ต้องกักตัว ถ้ามีอาการป่วยก็จะเข้าเกณฑ์ PUI และได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป
3.ผู้สงสัยว่าป่วยหรือติดเชื้อ กลุ่มนี้หากไม่เข้าเกณฑ์ PUI ก็ยังสามารถส่งเคลมค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ หากถ้าตรวจพบเชื้อก็รับตัวมารักษาที่โรงพยาบาล แต่หากตรวจไม่พบก็ให้แยกกักสังเกตอาการ 14 วัน
พญ.วลัยรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของนิยามผู้สงสัยติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์ PUI ได้อัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 4 กรณี
กรณีที่ 1 การเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.3 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือ อาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือ หายใจลำบาก ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงมีประวัติเดินทางต่างประเทศทุกเที่ยวบิน ทุกช่องทางระหว่างประเทศ
กรณีที่ 2 การเฝ้าระวังในผู้สงสัยติดเชื้อ/ผู้ป่วย
2.1 ผู้สงสัยติดเชื้อที่มีอาการ ดังต่อไปนี้ อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือประวัติมีไข้ ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากหรือ ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับการมีประวัติในช่วงเวลา 14 วันก่อนวันเริ่มป่วย อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1.มีประวัติเดินทางไปยัง หรือ มาจาก หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2.ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจานวนมาก
3.ไปในสถานที่ชุมนุมชน หรือ สถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือ ขนส่งสาธารณะ
4.สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2.2 ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
1.หาสาเหตุไม่ได้หรือ รักษาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง
2.มีอาการรุนแรง หรือ เสียชีวิตโดยหาสาเหตุไม่ได้
3.ภาพถ่ายรังสีปอดเข้าได้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
กรณีที่ 3 การเฝ้าระวังในบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข
อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือ มีไข้ หรืออาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากหรือ ปอดอักเสบ ร่วมกับปัจจัยเสี่ยง ผู้ป่วยทุกรายที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย/ผู้สงสัยว่าป่วยฯ
กรณีที่ 4 การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน
กลุ่มก้อน (cluster) ของผู้มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่ผลตรวจ rapid test หรือ PCR ต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ผลลบจากทุกรายที่มีการส่งตรวจ ร่วมกับปัจจัยเสี่ยง โดยในกรณีเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ 3 รายขึ้นไปในแผนกเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์เดียวกัน (หากสถานพยาบาลขนาดเล็ก เช่น คลินิก ใช้เกณฑ์ 3 รายขึ้นไปในสถานพยาบาลนั้น ๆ) และ กรณีในสถานที่แห่งเดียวกัน (ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์) ตั้งแต่ 5 รายขึ้นไปในช่วงสัปดาห์เดียวกัน โดยมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา
พญ.วลัยรัตน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการส่งตัวอย่างไปการตรวจในห้องปฏิบัติการนั้น แต่เดิมเมื่อโรงพยาบาลพบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อต้องโทรไปแจ้งสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) เพื่อออกรหัสผู้สงสัยติดเชื้อ (SAT Code) แต่ปัจจุบันนี้สามารถลงทะเบียนผู้สงสัยติดเชื้อในระบบรายงานโควิด-19 ถ้าเข้าเกณฑ์ก็จะออก SATCode โดยอัตโนมัติ ขณะที่ใบส่งตรวจสามารถออกในนามหน่วยบริการได้เลย โดยต้องระบุชื่อและหมายเลขบัตรประชาชนผู้ป่วยด้วย เพื่อที่จะสามารถเคลมค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ได้ และในกรณีผู้ไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ หากเป็นชาวต่างชาติที่ซื้อประกันสุขภาพก็จะเคลมจากบริษัทประกัน แต่ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าว หรือกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หน่วยบริการต้องมาเคลมกับกรมควบคุมโรค
- 210 views