ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง เขียนบทความลงในวารสาร The Lancet เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่าการ “ผ่อนปรน” มาตรการล็อกดาวน์หลังจากนี้ ในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มนิ่ง และสามารถลดความชันกราฟได้แล้ว จะไม่ง่ายนัก รวมถึงมีความเสี่ยงสูงที่โรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดใหม่อีกครั้งในประเทศ หากประชาชนในประเทศเหล่านี้ ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ต่อโรคโควิด-19 และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
โจเซฟ หวู่ ศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า หากเริ่มเปิดกิจการ เริ่มเปิดโรงงาน เริ่มเปิดโรงเรียน และปล่อยให้มีการเดินทางข้ามประเทศ โคโรนาไวรัส 2019 จะกลับมาอีกครั้ง และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าเดิม เพราะฉะนั้น ทีมนักวิจัย ได้เสนอให้ใช้มาตรการที่เข้มงวด จำกัดการรวมตัวของคนหมู่มาก และจำกัดการเดินทางจากต่างประเทศไปอีกระยะ จนกว่าจะมีวัคซีนที่คิดค้นสำเร็จ รวมถึงสามารถใช้งานแพร่หลายได้จริง
ทั้งนี้ นักวิจัยได้สร้างแบบจำลอง โดยใช้การระบาดในจีนเป็นพื้นฐาน พบว่ามาตรการล็อกดาวน์นั้น ทำให้ผู้ติดเชื้อลดได้จริง จำนวนการแพร่เชื้อ หรือค่า R0 (R nought) หรือ Reproduction Number น้อยกว่า 1 แต่หากผ่อนปรนล็อกดาวน์ หรือหยุดล็อกดาวน์เมื่อไหร่ จำนวนการระบาดจะกลับมาเพิ่มทันที และจะเพิ่มเร็วกว่าเดิม
เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลแต่ละประเทศตัดสินใจจะผ่อนปรนมาตรการ ก็ควรสร้างระบบ “มอนิเตอร์” การแพร่เชื้อ หรือทำ Contact Tracing ติดตามการระบาดที่เคร่งครัด เพื่อให้ค่า R0 น้อยกว่า 1 ต่อไป ควบคู่ไปกับการรณรงค์เปลี่ยนพฤติกรรม “เว้นระยะห่าง” ทางกายภาพ รวมถึงหา “จุดสมดุล” ระหว่างการควบคุมโรคระบาด และการทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ จนกว่าจะค้นพบวัคซีนที่ใช้ได้จริง
แบบจำลองของนักวิจัยชุดนี้ ยังพบอีกว่า หากจีน “ปล่อย” เมืองใหญ่ 4 เมือง อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น และเวินโจว และอีก 10 จังหวัด (ไม่รวมมณฑลหูเป่ย) โดยไร้มาตรการควบคุมทั้งผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ จากหูเป่ย และผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ การระบาดระลอกใหม่จะรุนแรงกว่าเดิม และแม้แต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขในเมืองที่พร้อมที่สุดอย่างปักกิ่ง ก็ไม่พร้อมที่จะรับได้ไหว
ผู้โดยสารลงจากรถไฟขบวนแรกจากอู่ฮั่น เมืองหนานหนิง เขตกวางสีของจีนในวันพุธ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เป็นประธานการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยระบุตอนหนึ่งว่า จีนจะยังต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อไป โดยเน้นย้ำว่าต้องป้องกันไม่ให้มีการ “นำเข้า” เคสใหม่ๆ จากต่างประเทศโดยเด็ดขาด
หลังจากอู่ฮั่น เริ่มเปิดเมืองเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลจีน อนุญาตให้ผู้ที่มีผลการตรวจโคโรนาไวรัส 2019 เป็นลบเท่านั้น จึงจะสามารถออกนอกอู่ฮั่นได้ ทั้งนี้ ในวันแรก มีการเคลื่อนย้ายประชากรจากอู่ฮั่น ออกไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 5.5 หมื่นคน ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ในจีน
หลายเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น ยังคงมาตรการ “วัดไข้” ทุกครั้งที่เข้า-ออก ออฟฟิศ และจีนยังได้ขอให้ทุกมณฑล งดกิจกรรมที่ต้องรวมคนจำนวนมาก จำกัดจำนวนคนในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น เขาหัวซาน ให้เหลือวันละ 6,000 คน ไปจนถึงขอให้งดการท่องเที่ยวข้ามมณฑล และเดินทางออกนอกประเทศไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการแพร่เชื้อรอบใหม่
หากจีน ประสบความสำเร็จในการค่อยๆ ผ่อนปรนล็อกดาวน์ จะเป็นตัวอย่างให้หลายประเทศในยุโรป ที่เริ่มสามารถคุมความชันของกราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่ หรือ Flattening the curve ได้ เดินตาม
สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรีย เดนมาร์ก และเยอรมัน ได้ออกแผนผ่อนล็อกดาวน์ของตัวเอง โดยเริ่มเปิดจากกิจการ-ออฟฟิศ ที่มีขนาดเล็กก่อน ไปจนถึงให้ใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด โดยการผ่อนปรนล็อกดาวน์ มาจากเสียงเรียกร้องของคนในชาติ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้เดินหน้าต่อไป หลังจากชะงักงันมานานหลายสัปดาห์
แอนดรูว์ ออสวอลด์ และ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Warwick ประเทศอังกฤษ ได้ออกรายงาน 1 ฉบับ เสนอแนะให้ คนหนุ่มสาวอายุ 20-30 จำนวน 4.2 ล้านคน ในอังกฤษ ซึ่งไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ กลับมาทำงานตามปกติ เพื่อลดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และเพื่อให้ประเทศกลับมา “รีสตาร์ท” อีกครั้ง
สัปดาห์ที่แล้ว ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ และธุรกิจ (the Centre for Economics and Business Research) ประเทศอังกฤษ ประเมินไว้ว่า ความเสียหายของการล็อคดาวน์ในแต่ละวันนั้น อาจสูงถึงวันละ 2,400 ล้านปอนด์ (9.6 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษยืนยันว่า จะยังไม่พิจารณาแผนผ่อนปรนการล็อกดาวน์ในเร็วๆ นี้ หลังอังกฤษยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตในแต่ละวันสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงการล็อกดาวน์ จะเดินหน้าต่อไปอีกหลายสัปดาห์
แปลและเรียบเรียงโดย สุภชาติ เล็บนาค
แหล่งที่มา
- 10 views