โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ตอบรับมาตรการ "ตรวจเยอะ ตรวจเร็ว เจอเร็ว รักษาเร็ว ควบคุมโรคเร็ว” รุดเปิดแล็บตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตรวจได้สูงสุดวันละ 94 ราย รู้ผลภายใน 3 ชม. ช่วยลดภาระบุคลากรและทรัพยากร ดูแลผู้ป่วยต้องสงสัยในวอร์ดผู้ป่วย พร้อมประสาน สสจ. ลงพื้นที่เฝ้าระวังเคสผู้สัมผัสใกล้ชิดได้ทันท่วงที หากพบผลตรวจผู้ป่วยเป็นบวก
นพ.สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เปิดเผยถึงจุดเปลี่ยนการควบคุมโรคโควิด-19 ของจังหวัดสระแก้ว ภายใต้หลัก "ตรวจเยอะ ตรวจเร็ว เจอเร็ว รักษาเร็ว ควบคุมโรคเร็ว” ซึ่งขณะนี้ รพร.สระแก้ว ได้เปิดแล็บสำหรับตรวจหาเชื้อโควิด-19 ขึ้น โดยสามารถรู้ผลภายใน 3 ชม. และตรวจได้สูงสุดวันละ 94 ราย ว่า ขณะนี้หากมีผู้ป่วยจากพื้นที่อื่นเช่น กทม. และ ปริมณฑล รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เจ็บป่วยเป็นไข้หรือมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจเข้ามารักษา เราจะคัดแยกไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ของผู้ป่วยนอก หรือบริเวณทั่วไปของโรงพยาบาล จะให้แยกไปที่อาคารอินทนิล ที่จัดตั้งเป็นห้องตรวจไข้หวัดโดยเฉพาะ ซึ่งจะให้บริการโดยเจ้าหน้าที่ที่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน เป็นการแยกส่วนอย่างชัดเจนป้องกันเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการติดไข้หวัด
ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยป่วยโควิด-19 เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บสารคัดหลั่งในช่องคอหรือโพรงหลังจมูก ส่งไปตรวจวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการ ที่ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นวิธีการตรวจตามมาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นั่นก็คือการตรวจสารรหัสพันธุกรรม โดยเครื่องที่ใช้ในการตรวจเป็นเครื่องเดียวกับ ที่ใช้ตรวจไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่ใช้น้ำยาเฉพาะสำหรับตรวจเชื้อโควิด-19 ในละวันเราสามารถตรวจได้ 94 ตัวอย่าง ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ หากส่งตรวจช่วงเช้าผลจะออกในช่วงบ่าย
“ปัจจุบันเราส่งตัวอย่างไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ จ.ชลบุรี ซึ่งต้องใช้เวลารอคิวค่อนข้างนาน บางครั้งอาจต้องใช้เวลาถึง 3 วัน เนื่องจากรองรับการส่งตรวจหลายจังหวัด ทำให้ รพ.ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคล และบุคลากรในการดูแลคนไข้ต้องสงสัย ที่จำเป็นต้องนอนรักษาและดูอาการในโรงพยาบาล รวมถึงสิ้นเปลืองอุปกรณ์ป้องกัน สำหรับให้เจ้าหน้าที่ใส่ปฏิบัติงาน และยังสร้างความกังวลให้กับญาติพี่น้องผู้ป่วยด้วย” นพ.สุรสิทธิ์ กล่าว
ฉะนั้น การมีห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เองที่โรงพยาบาล นอกจากทำให้รู้ผลเร็วและรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงทีแล้ว ขณะเดียวกันยังสามารถแจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ลงพื้นที่ไปควบคุมเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในพื้นที่ที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ โดยเฉพาะการไปเฝ้าระวังในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด หากพบผู้มีอาการมีไข้เข้าข่ายต้องสงสัย จะได้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งส่งมาตรวจวิเคราะห์ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เราสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อได้ในที่สุด
- 283 views