ศบค.แถลงสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยพบป่วยสะสม 2,220 ราย หายแล้ว 793 ราย ล่าสุดเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย อายุน้อยสุด 28 ปี ขณะที่ผู้เสียชีวิตอีกรายมีประวัติเล่นพนันหลายแห่ง เร่งติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ขณะเดียวกันยังพบผู้ติดเชื้อมาจากการสัมผัสใกล้ชิดคนในบ้าน ขอความร่วมมือทิ้งระยะหว่างระหว่างบุคคล แม้อยู่ในบ้านตัวเอง
วันที่ 6 เม.ย.2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า (ศบค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่า สำหรับผู้ป่วยรายใหม่วันนี้(6 เม.ย.) เพิ่มขึ้น 51 ราย กระจาย 66 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,220 ราย หายแล้ว 793 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมเสียชีวิต 26 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 3 ราย ประกอบด้วย
รายที่ 1 เป็นชายไทยอายุ 28 ปี อาชีพพนักงานในกรุงเทพ มีประวัติเพื่อนร่วมงานติดโควิด-19 เริ่มป่วย 27 มี.ค. ด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ รักษาที่รพ.เอกชน แต่อาการไม่ดีย้ายไปรพ.ในจ.สมุทรปราการ และวันที่ 24 มี.ค.มีอาการไข้สูง ออกซิเจนลดลงมา จึงส่งตัวรักษารพ.เอกชนในกรุงเทพฯ ส่งตัวอย่างตรวจหาเชื้อโควิด-19 ปรากฎว่าผลออกมาวันที่ 4 เม.ย.และเสียชีวิตในวันเดียวกัน
รายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 51 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว มีประวัติโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีภาระอ้วน เริ่มป่วยวันที่ 28 มี.ค. แรกรับมีอาการไอ และรักษาในรพ.วันที่ 1 เม.ย. ต้องรับรักษาตัวในรพ. พบว่าออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง เมื่อเอกซเรย์ปอด พบปอดอักเสบรุนแรง ผลออกวันที่ 2 เม.ย.และเสียชีวิตวันที่ 4 เม.ย.
รายที่ 3 เป็นหญิงอายุ 59 ปี ป่วยเบาหวาน ก่อนหน้านี้ไปเล่นการพนันในหลายแห่งในกทม. ซึ่งมีการเจอผู้คนจำนวนมาก เริ่มป่วย 29 มี.ค. และรักษาตัวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ด้วยอาการหอบเหนื่อย มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง เมื่อส่งตรวจตัวอย่างพบว่าเป็นโควิด-19 และวันที่ 2 เม.ย.เสียชีวิต
“ทั้ง 3 ราย อายุต่ำกว่า 60 ปี มีน้อยสุดอายุ 28 ปี แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นความเสี่ยงทั้งหมด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 51 ราย ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 25 ราย แบ่งเป็น กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 22 ราย และจากพิธีกรรมทางศาสนา 3 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยอื่นๆ จำนวน 19 ราย แบ่งเป็น คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย, คนต่างชาติเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย, สัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ 1 ราย , อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือใกล้ชิดต่างชาติ 3 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ 13 ราย โดยพบเป็นกลุ่มบุคลากรใน รพ.เอกชน 11 ราย มีทั้งจากการดูแลผู้ป่วย และมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น รับประทานอาหาร รวมบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 50 ราย
กลุ่มที่ 3 พบเชื้อแต่รอสอบสวนโรคเพิ่ม 7 ราย
โฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลการติดเชื้อในพื้นที่กทม. ตั้งแต่เดือนม.ค. - วันที่ 4 เม.ย. 2563 พบปัจจัยเสี่ยงของคนไทยที่ติดเชื้อในกทม. ซึ่งตัวเลขคนติดเชื้อ ณ ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 772 ราย พบว่า มีถึง 288 ราย หรือประมาณ 37% ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิด ซึ่งแยกออกเป็นการอยู่ร่วมบ้านจนทำให้ติดเชื้อมี 102 ราย หรือ 35% จากการเข้าสังคมเพื่อนฝูง 61 รายหรือ 21% อยู่ในสถานที่เดียวกัน 47 ราย หรือ 16% และร่วมงานเดียวกัน 63 คน หรือ22% ไม่ระบุสาเหตุมี 15 คนหรือ 5%
ส่วนในต่างจังหวัด ข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค.- วันที่ 4 เม.ย.2563 พบตัวเลขคนติดเชื้อช่วงเวลาดังกล่าวจำนวน 817 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดพบถึง 340 ราย หรือ 42% ซึ่งแยกออกเป็นติดเชื้อจากคนในบ้านเราเอง 157 ราย หรือ 49% จากการเข้าสังคมเพื่อนฝูง 43 รายหรือ 13 % อยู่ในสถานที่เดียวกัน 46 ราย หรือ 14 % และร่วมงานเดียวกัน 49 คน หรือ 15 % ไม่ระบุสาเหตุมี 27 คนหรือ 8 %
“ดังนั้น การป้องกันด้วยการเว้นระยะห่างยังเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งต้องสวมหน้ากากอนามัย อย่างล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศแล้วว่า หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นต้องสวมใส่ เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 จากก่อนหน้านี้มีท่าทีแตกต่างออกไป สรุปคือ ยังต้องเว้นระยะห่างทางสังคมและบุคคล รวมทั้งล้างมือบ่อยๆ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ร่วมกับสวมหน้ากากผ้าหากไม่ป่วย และสวมหน้ากากอนามัยหากป่วย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
- 4 views