ในขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทย กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment) หรือ PPE ซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันและการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โรงพยาบาลในบางประเทศก็กำลังประสบปัญหาไม่ต่างกัน
ที่น่าแปลกใจคือ การขาดแคลน PPE ในประเทศผู้นำโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับมือกับวิกฤติโรคระบาดขนาดใหญ่
ในสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเมืองต่างๆ รวมทั้งในแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME ว่า PPE ขาดแคลนอย่างหนัก ซึ่งรวมทั้งหน้ากาก N95 เสื้อคลุม และแว่นกันเชื้อโรค ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ในความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อยอดจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯพุ่งขึ้นสูงกกว่า 80,000 รายในตอนนี้
การขาดแคลน PPE อยู่ในภาวะวิกฤติ ถึงขนาดที่โรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐฯต้องขอรับบริจาคผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยแฮชแทค #GetMePPE หรือแม้แต่ตั้งเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อขอรับบริจาคโดยเฉพาะ ไม่ต่างจากภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยขณะนี้ ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกว่า 1,000 ราย
กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯคาดการณ์ว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ป่วย ต้องใช้หน้ากาก N95 มากกว่า 3,500 ล้านชิ้น หากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ลากยาวเป็นเวลาหนึ่งปี ในขณะนี้ สหรัฐฯมีสต๊อกหน้ากาก N95 เพียง 12 ล้านชิ้น
เมื่อหน้ากากขาดตลาด แพทย์และพยาบาลในหลายโรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้หน้ากากซ้ำ ลูกจ้างสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่พยาบาลในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ให้สัมภาษณ์กับ TIME ว่าตนไม่มีหน้ากาก N 95 สวมใส่ในระหว่างปฏิบัติงาน
“ฉันรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งทางจิตใจและร่างกาย ฉันอยู่ที่นี่เพื่อช่วยชุมชน แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็อาจเป็นพาหะนำเชื้อสู่พวกเขาได้” พยาบาลคนหนึ่งกล่าวกับ TIME
ในอีกด้าน เชื้อโควิด-19 กำลังระบาดหนักในอังกฤษ จนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 ราย รัฐบาลและหน่วยงานบริหารระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service: NHS) ได้เกณฑ์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกษียณมากถึง 11,788 คน มาเป็นอาสาสมัครคัดกรองและเฝ้าระวังโรคผู้อยู่อาศัยตามบ้าน
แต่ก็เกิดข้อขัดแย้ง เมื่อรัฐบาลอังกฤษไม่สามารถจัดสรร PPE ให้ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครเหล่านี้ได้อย่างเพียงพอ จนแพทย์และพยาบาลจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นกับ The Guardian ว่าตนอาจต้องหยุดการทำงาน เพราะรู้สึกถูกรัฐบาลทอดทิ้งให้ผจญความเสี่ยงเพียงลำพัง
“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เจ้าหน้าที่พยาบาลที่ทำงานตรงหน้าด่าน ต้องมีหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น รัฐบาลและ NHS ต้องช่วยปกป้องและดูแลคนเหล่านี้” กล่าวโดยโฆษกของ The Royal College of Nursing ซึ่งเป็นเครือข่ายของพยาบาลมากกว่า 40,000 คนในอังกฤษ
“เจ้าหน้าที่พยาบาลไม่ควรจะถูกบังคับให้เลือกระหว่างความปลอดภัยกับการทำงาน ดังนั้น เครื่องมือป้องกันต้องส่งไปถึงเจ้าหน้าที่ที่หน้าด่าน”
“ปฏิเสธปัญหา” ผลจากการบริหารแบบ “หอคอยงาช้าง”
การขาดแคลน PPE ในสหรัฐฯ เกิดจากความต้องการอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะโควิด-19 ระบาด โดยรัฐบาลสหรัฐฯไม่ได้เตรียมความพร้อมจัดหาอุปกรณ์ก่อนหน้านี้ อีกสาเหตุหนึ่ง คือห่วงโซ่การผลิต PPE ของโลก ซึ่งหยุดชะงักด้วยการระบาดของโรคโควิด-19
ก่อนหน้านี้ ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่ โดยมีกำลังการผลิตเป็นครึ่งหนึ่งของผลผลิตหน้ากากอนามัยทั้งโลก เมื่อเชื้อโควิด-19 ระบาดหนักในจีน การส่งออกหน้ากากอนามัยจึงหยุดชะงัก
แต่เมื่อการติดเชื้อโควิด-19 ในจีนเริ่มชะลอตัวในช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนจึงเริ่มกลับมาส่งออกหน้ากากอนามัย พร้อมยังบริจาคหน้ากากไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงยุโรป และประเทศไทยที่ได้รับการบริจาคเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จากรัฐบาลจีนเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา
สหรัฐฯ มิได้ถูกพิจารณาให้เป็นผู้รับหลัก สืบเนื่องจากความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯมิได้ใความช่วยเหลือใดๆ ในช่วงที่โควิดระบาดหนักในจีน ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) และคณะรัฐมนตรีบางส่วน เล่นการเมืองสาดน้ำลายด้วยการตีตราจีน เรียกเชื้อโควิดว่า “Chinese virus”
อย่างไรก็ดี สาเหตุหลักที่ทำให้อุปกรณ์ป้องกันขาดแคลนอย่างหนัก เป็นเพราะการบริหารงานแบบ “หอคอยงาช้าง” ที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐ โดยตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ และอังกฤษ ต่างไม่ยอมรับว่าอุปกรณ์ป้องกันขาดแคลน
ในกรณีของอังกฤษ คริส ฮอปสัน (Chris Hopson) ผู้อำนวยการ NHS ให้ข่าวกับสื่ออังกฤษเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่า PPE มี “เพียงพอ” ท่ามกลางความไม่พอใจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันในโรงพยาบาลหน้าด่าน
อีกด้านหนึ่ง ปีเตอร์ นาร์วาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาด้านการค้าของรัฐสภาสหรัฐฯให้ข่าวเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า “เรามีทุกอย่าง(อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์)ที่เราต้องการ โดยที่ไม่ต้องถึงมือรัฐบาล”
ภาคส่วนต่างๆ รวมถึง กลุ่มนายกเทศมนตรีและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต่างเรียกร้องให้ทรัมป์ประกาศใช้กฎหมายการผลิตเพื่อการป้องกัน (Defense Production Act) ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจประธานาธิบดี สั่งเอกชนเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการสร้างความมั่นคงประเทศ
หากประกาศกฎหมายแล้ว ทรัมป์จะสามารถสั่งโรงงานเอกชนในสหรัฐฯ ให้ผลิตและจัดหาพีพีอี เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคส่วนสาธารณสุขได้ทันที อย่างไรก็ดี เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า “ไม่จำเป็น” ต้องใช้กฎหมายพิเศษ เพราะเข้าข่ายแนวคิดแบบ “สังคมนิยม”
การปฏิเสธปัญหาเช่นนี้ ไม่ต่างจากภาพปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในไทยก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่างเคยออกมาปฏิเสธปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะยอมรับว่ามีปัญหาจริงในภายหลัง
“ไร้ภาวะผู้นำ” อุปสรรคในการรับมือโรคระบาด
จากสภาพการณ์ที่รัฐบาลหายประเทศมีความล่าช้าต่อการตอบสนองการระบาดของเชื้อโควิด จนทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน และพบความเสี่ยงจากเชื้อโควิด-19 นั้น
เกิดคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลเหล่านี้จึงขาดประสิทธิภาพในบริการาน ทั้งๆ ที่มีประสบการณ์รับมือโรคระบาดในอดีต และยังมีแผนปฏิบัติการจัดการโรคระบาดในมือ
สำนักข่าวการเมือง Politico เผยแพร่บทความเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐสภาสหรัฐฯ มีหนังสือคู่มือจัดการโรคระบาดจำนวน 69 หน้า จัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติในปี 2559 ระบุถึงหน้าที่ของรัฐบาล ในการตอบสนองต่อโรคระบาด “แต่เนิ่นๆ”
ทั้งยังระบุขั้นตอนการจัดการโรคระบาดในทุกด้านอย่างละเอียด รวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
แต่รัฐบาลสหรัฐฯกลับไม่ปฏิบัติตามคู่มือ แล้วยังชะล่าใจต่อการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมิได้เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด ทั้งยังเพิกเฉยต่อการสร้างความร่วมมือกับนานประเทศ รวมทั้งจีน ในการหยุดยั้งโรคโควิด-19 อีกด้วย
ดังนั้น ความอิหลักอิเหลื่อในการควบคุมโรคโควิด-19 จึงมิใช่เกิดจากการขาดแผนรับมือ แต่เกิดจาก “ไร้ภาวะผู้นำ” ของรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิบัติตามแผนรับมือ จนทำให้เกิดความล่าช้าต่อการตอบสนองโรคระบาด
ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ ไปจนถึง บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งตัดสินใจไม่ประกาศปิดเมืองในช่วงเริ่มแรกของการระบาด ตามคำแนะนำของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
หรือแม้แต่ในกรณีของไทย ที่ผู้นำทหารฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่างชะล่าใจต่อความรุนแรงของการระบาด โดยเพิ่งประกาศมาตรการจำกัดการเดินทางอย่างเด็ดขาด เมื่อการระบาดย่างเข้าสู่เดือนที่สามไปแล้ว
บทความ Critical Supply Shortages - The Need for Ventilators and Personal Protective Equipment during the Covid-19 Pandemic เผยแพร่ใน The New England of Journal of Medicine เมื่อเร็วๆนี้ เสนอว่ารัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการจัดการโรคระบาด และการันตีการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
โดยตั้งข้อสังเกตว่าในกรณีของสหรัฐฯ การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้เกิดขึ้นทุกที่พร้อมกันทั่วประเทศ ดังนั้น หากรัฐบาลทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานกับพื้นที่ที่ยังไม่เกิดการระบาด เพื่อขอให้มีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกับพื้นที่ระบาด ก็จะสามารถปิดช่องว่างการขาดแคลนบุคลากรและ PPE ได้
นอกจากนี้ รัฐบาลควรประสานงานกับภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยี ในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์
ซึ่งวิธีการที่กล่าวมาข้างต้น สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลไต้หวันและสิงคโปร์ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าบทบาทผู้นำและการประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ มีผลอย่างมากต่อความสำเร็จในการจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสจากโรคโควิด-19
นักวิเคราะห์ต่างลงความเห็นว่า ความล่าช้าในการตอบสนองต่อโรคระบาดของประเทศต่างๆ อาจทำให้การระบาดของเชื้อไวรัสจากโรคโควิด-19 ลากยาวไปถึงอย่างน้อยกลางปี
โดยภายหลังผ่านวิกฤติครั้งนี้ รัฐบาลในหลายประเทศอาจต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดภาพปัญหาเล่นซ้ำในการจัดการโรคระบาดครั้งหน้า
- 253 views