ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 111 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมทะลุพันเป็น 1,045 ราย ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรคชี้ หากการระบาดมีแนวโน้มคงที่อยู่ในหลักร้อย สิ้นเดือน เม.ย. อาจมีผู้ป่วยเป็น 3,500 ราย พร้อมหวังว่ามาตรการที่รัฐออกมาในช่วงนี้จะช่วยหน่วงสถานการณ์ไม่ให้ตัวเลขเป็นเช่นนั้น ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเชิญชวนประชาชนทั่วไปโหลดแอปฯ AOT เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง หากพบผู้ป่วยในบริเวณที่ไปจะได้แจ้งเตือน
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ณ วันที่ 26 มี.ค.2563 มีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้น 111 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 1,045 ราย ผู้ป่วยกลับบ้าน 88 ราย พักอยู่ในโรงพยาบาล 953 ราย เป็นผู้ป่วยหนัก 4 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเท่าเดิม 4 ราย
อนึ่ง ในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่พบนี้ มี 3 รายเป็นบุคลากรสาธารณสุข ส่งผลให้จำนวนบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 9 ราย สาเหตุหลักเกิดจากการที่ผู้ป่วยปิดบังประวัติการเดินทาง
นพ.อนุพงศ์ วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2563 และช่วง 2-3 วันนี้ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่แนวโน้มคงที่อยู่ในหลักร้อย ซึ่งหากยังมีอัตราการเพิ่มหลักร้อยเช่นนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. หากมาตรการที่ออกมาไม่แรงพอ คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยทั่วประเทศประมาณ 3,500 ราย อย่างไรก็ดี การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การรณรงค์เว้นระยะห่างในสังคม มาตรการด้านการเดินทางต่างๆ ที่ออกมา ก็หวังว่าจะช่วยหน่วงสถานการณ์ให้จำนวนผู้ป่วยไม่เพิ่มขึ้นไปถึง 3,500 ในสิ้นเดือน เม.ย.นี้
นพ.อนุพงศ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 10 วันล่าสุด (16-25 มี.ค. 2563) ยังพบว่ามีการแพร่กระจายเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ (9-15 มี.ค. 2563) การแพร่กระจายเชื้อส่วนใหญ่กระจุกตัวใน กทม. และในช่วง 7 วันนี้ พบว่าอัตราการแพร่เชื้อใน กทม. อยู่ที่ 1 ต่อ 3.4 ราย ส่วนในต่างจังหวัด ในพื้นที่ จ.สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และภูเก็ต อัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 1 ต่อ 2.2 ราย และจังหวัดอื่นๆ อยู่ที่ 1 ต่อ 1.8
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อช่วยในการติดตาม ให้ข้อมูล และให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว 3 แอปฯ โดยแอปฯแรกคือแอปพลิเคชัน AOT ของการท่าอากาศยาน ซึ่งผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศจะต้องดาวน์โหลดมาติดตั้งในโทรศัพท์มือถือและระบุพิกัดที่ใช้ในการกักตัว รวมทั้งมีฟังชั่นการรายงานข้อมูลสุขภาพทุกวัน หากมีอาการก็จะได้รับคำแนะนำต่างๆ จากแพทย์ และหากออกนอกพิกัดที่กำหนดเกิน 200 เมตร ระบบจะแจ้งเตือนเป็นสีส้มแล้วจะมีเจ้าหน้าที่โทรไปสอบถามหรือไปหาถึงบ้าน รวมทั้งจะเป็นสีแดงในกรณีที่มีอาการป่วย
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน AOT เริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2563 มีผู้ใช้งาน 4 หมื่นคน และกำลังติดตามผู้ที่เดินทางเข้ามาก่อน 11 มี.ค. ให้มาดาวน์โหลดแอปฯนี้
อย่างไรก็ดี ขอเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดมาตั้งติดในโทรศัพท์มือถือด้วย โดยไม่ต้องระบุพิกัดที่กักตัว แต่แอปฯจะเก็บข้อมูลการเดินทางเอาไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อ ระบบจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าผู้ติดเชื้อรายนั้นๆเดินทางไปที่ไหนมาบ้าง และจะตรวจสอบว่ามีใครที่อยู่ในบริเวณนั้นแล้วแจ้งเตือน ซึ่งจะช่วยป้องกันประชาชนจากความเสี่ยงและช่วยเจ้าหน้าที่ในการติดตามควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แพล็ตฟอร์มต่อมาคือ covid-19.ddc.moph.go.th ซึ่งจะเป็นแพล็ตฟอร์มหลักในการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วอย่างเป็นทางการ มีข้อมูล Heat Map ซึ่งถ้าคลิกไปดูจะแสดงจุดกำเนิดการระบาด วันไหน เวลาไหน เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องหรือไปตรวจหาเชื้อ รวมทั้งมีแบบประเมินตัวเองแก่ประชาชนเพื่อคัดกรองความเสี่ยงอีกด้วย
ส่วนแพล็ตฟอร์มสุดท้ายคือ Chatbot สบายดี โดยสามารถแอดไลน์ไปที่ @sabaideebot ใช้สำหรับกลุ่มผู้ที่ประเมินตัวเองแล้วเป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ การบันทึกข้อมูลสุขภาพ บันทึกการเฝ้าระวัง และหากไปตรวจเชื้อแล้วก็สามารถเอาเลขที่ตรวจเชื้อถามไปแชทบอท แชทบอทจะบอกว่าผลเป็นบวกหรือลบโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล
- 16 views