สสส.-สมาคมโรคเบาหวาน แนะวิธีดูแลตนเอง เลี่ยง-ลดพฤติกรรมเสี่ยง ห่วง ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน เสี่ยงอาการรุนแรงหากติดเชื้อไวัรสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19
จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย หนึ่งในผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เป็นเพศชาย อายุ 45 ปี ซึ่งมีโรคเบาหวาน และภาวะอ้วน นั้น
นพ.เพชร รอดอารีย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเลขาธิการสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคโควิด-19 ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจ มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่ติดเชื้อ มีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป หรืออาจไม่มีอาการเลย อาจไม่จำเป็นที่ต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ร้อยละ 15 อาจมีอาการรุนแรง และร้อยละ 5 มีอาการรุนแรงมากควรไปพบแพทย์ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงมาก ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่มีโรคร่วม เช่น เบาหวานที่มีถึง 4.8 ล้านคน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมาจากวิถีชีวิตแบบเนือยนิ่ง รับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ
“ผู้เป็นเบาหวานที่มีการติดเชื้อ การคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะผันผวนและควบคุมได้ยาก มีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และเชื้อจะเจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูง วิธีปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ 1.เตรียมตัวให้พร้อมหากรู้สึกไม่สบาย 2.ติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหากจำเป็น 3.ตั้งใจควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้น 4.หากมีอาการไข้สูง ไอ จาม หรือหายใจลำบาก มีเสมหะ ควรได้รับการรักษาอย่างทันที 5.การติดเชื้อทุกชนิดสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้ร่างกายขาดน้ำ จึงควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอ 6.เช็คความเพียงพอของยารักษาเบาหวาน 7.สำรองอาหารโดยเฉพาะประเภทน้ำตาลอย่างเพียงพอ สำหรับการแก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำได้ทันท่วงที 8.ควรมีผู้ที่สามารถไว้วางใจและมั่นใจว่าจะช่วยเหลือได้” ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าว
นพ.เพชร กล่าวว่า โรคโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านทางละอองอากาศจากการพูด การไอ หรือจาม ติดต่อผ่านทางการสัมผัส ดังนั้นควรป้องกันด้วยการล้างมือและงดการเข้าในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด สำหรับผู้เป็นเบาหวาน ควรระมัดระวัง การหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเป็นสิ่งสำคัญ 1.ล้างมือสม่ำเสมอ 2.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า ควรล้างมือและทำให้มือแห้งสะอาดก่อนสัมผัสใบหน้า 3.ทำความสะอาดวัตถุหรือบริเวณที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ 4.เวลาไอหรือจาม ควรนำต้นแขนหรือข้อพับแขนมาปิดบริเวณปากและจมูก ไม่ควรใช้มือปิดเนื่องจากมืออาจไปสัมผัสวัตถุสิ่งของอื่นต่อ เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ 5.หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ป่วยที่มีอาการเสี่ยง 6.คอยแนะนำหรือพูดคุยกับคนในครอบครัวถึงการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถโดยสารที่แออัด หลีกเลี่ยงการไปเที่ยว หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีผู้คนชุมนุมกันจำนวนมาก 7.ถ้ามีอาการหรือสงสัยจะป่วย โปรดพักผ่อนอยู่บ้าน และโทรศัพท์เพื่อขอคำแนะนำได้ที่ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 1422 หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 และ 8.หากมีอาการหนัก ควรโทรศัพท์เพื่อขอคำแนะนำวิธีการไปพบแพทย์ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1422 หรือ 1669
สามารถติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ทาง เฟซบุ๊กแฟนเพจ facebook.com/thaimoph/ ทวิตเตอร์ และแอปพลิเคชัน Tik Tok “ไทยรู้สู้โควิด”
- 109 views