นายกฯ ประธานประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ครั้งที่ 1 มีมติ “สงกรานต์ไม่ใช่วันหยุด” หวั่นแพร่กระจายโควิด-19 พร้อมย้ำ ไทยยังไม่ถึงขั้นระยะ 3 ยังอยู่ระยะ 2 เท่านั้น
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า วันนี้มีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ครั้งที่ 1 โดยคณะกรรมการที่มาประชุมกันเป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีอำนาจหน้าที่เหนือกว่าทุกศูนย์ โดยมีนายกฯ เป็นประธาน มีกรรมการต่างๆ ที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งไม่ใช่กรรมการก็ร่วมประชุมด้วย ใช้เวลาทั้งหมด 5 ชั่วโมงครึ่ง จนได้มติเห็นตรงกัน การประชุมในวันนี้จะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 17 มี.ค. 2563 แต่บางส่วนให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการได้ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แต่บางเรื่องต้องรอมติจาก ครม. ส่วนบางเรื่องก็อาจต้องนำไปศึกษาก่อน อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ต้องไปศึกษาต่อก็เป็นเพียงการดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ขัดกับตัวกฎหมาย
ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า แม้เราจะเตือนเป็นระยะ ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งปัจจุบันก็ยังอยู่ระยะที่ 2 ไม่ถึงขั้นระยะที่ 3 เพราะมีข้อมูลวิชาการรองรับในส่วนของประเทศไทย เพื่อเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์เอง ว่า ระดับไหนเรียกว่าระยะ 2 หรือระดับไหนเรียกระยะ 3 โดยระยะ 3 จะใช้ก็ต่อเมื่อมีประชาชนชาวไทยที่รับเชื้อ และติดต่อโรคกันเอง และสืบสาวราวเรื่องไม่พบว่าต้นตอมาจากประเทศที่แพร่เชื้อมาก่อน แต่เป็นการติดต่อโดยคนไทยกันเอง และไม่พบว่ามาจากคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ที่สำคัญยังมีเกณฑ์ว่า จะต้องปรากฏการแพร่เชื้อแบบนี้เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่ราย หรือ 2 ราย และตัวชี้วัดที่ 3 คือ พบการติดเชื้อหลากหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดนั้น จังหวัดนี้ หากถึงขั้นนั้นแสดงว่าคับขัน ต้องมีการเตรียมการรับมืออีกแบบหนึ่ง
“ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าว จึงไม่ถึงขั้นที่ 3 และเกณฑ์นี้เราตั้งขึ้นเอง เพราะจีน สหรัฐฯ ก็ไม่มีการแบ่งเฟส 1 เฟส 2 หรือเฟส 3 แต่อย่างไร ที่เราตั้งระดับแบบนี้เพราะเราเคยชิน อย่างกรณีกระทรวงมหาดไทย เมื่อมีเหตุการณ์อะไรก็จะมักมีการออกคำเตือนเป็นระยะ 2 ระยะ 3 ซึ่งเป็นเรื่องสาธารณภัย ไม่เกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุข สรุปคือ ปัจจุบันโควิด-19 ยังไม่ถึงขั้นระยะ 3 แต่เราก็จำเป็นต้องรับมือ เพื่อไม่ให้เกิดความประมาท และไม่ให้เกิดความคิดว่ารัฐไม่ได้เตรียมการ ซึ่งเราแบ่งงาน 6 ด้าน เพื่อเตรียมการเข้าสู่ระยะ 3 ที่ยังไม่ปรากฏว่าเมื่อไหร่ แต่เราเตรียมการไว้ก่อนเพื่อให้เกิดความอุ่นใจของประชาชน”
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า สำหรับ 6 ด้าน และให้แต่ละด้านเตรียมการความพร้อมต่างๆ ดังนี้ 1.การเตรียมพร้อมสถานพยาบาล โดยนายกฯ ให้เตรียม รพ.ทั้งรัฐ เอกชน และท้องถิ่น กทม. และให้เตรียม รพ.ของมหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ ทั้งหมด ให้ปรับสถานที่ให้มีเตียงรองรับเพียงพอ และเตรียมการเกี่ยวกับหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมระดมบุคลาการทางการแพทย์ทั้งหมด ทั้งที่เกษียณอายุไปแล้ว รวมทั้งพยาบาลจิตอาสา อาสาสมัครต่างๆ ที่มีความรู้ทางด้านการแพทย์ หากสถานการณ์ไปถึงจุดที่จำเป็นต้องขอความร่วมมือไปถึงบุคลากรเหล่านั้น ส่วนยา และเวชภัณฑ์ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมเรื่องนี้แล้ว และนายกฯ อนุมัติค่าตอบแทนพิเศษให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นกรณีพิเศษด้วยแล้ว
2.ด้านเวชภัณฑ์อย่างหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ที่ใช้ชำระล้างมือ โดยรัฐมนตีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งกำลังผลิตวันละ 2 ล้านชิ้น และกระทรวงต่างประเทศรายงานว่า ได้รับแจ้งจากบางประเทศพร้อมให้ความช่วยเหลือหน้ากากอนามัย รวมทั้งจะเร่งกำลังผลิตเจลแอลกอฮอล์ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะไปดำเนินการ อย่างไรก็ตาม นายกฯได้กำชับกรณีที่มีการตรวจจับคนค้าขายหน้ากากอนามัยที่เกินราคา รวมถึงกรมศุลกากรไปจับที่จะส่งออก โดยของกลางมีกว่าล้านชิ้น ให้นำมาใช้ได้ ส่วนทางคดีให้ว่ากันต่อไป อย่าให้เสียรูปคดี
3.ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในแต่ละวันจะมีประชาชนโทรเข้ามาจำนวนมากวันละ 1,000 รายทุกวัน ซึ่งได้ชี้แจงทำความเข้าใจและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสื่อสารให้เข้าใจประมาณ 98% ส่วนใหญ่จะถามว่า จะปิดโรงเรียนหรือไม่ จะปิดกิจกรรม จะเปิดให้ไปประเทศนี้ได้หรือไม่ คำตอบเหล่านี้มีมาเรื่อยๆ
4.การต่างประเทศ เป็นสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ รายงานว่า มีต่างประเทศปรารถนาดีจะให้ความช่วยเหลือด้านยา หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งท่านนายกฯ บอกว่า เราจะรออย่างเดียวไม่ได้ ต้องผลิตเองด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมชุดป้องกันโรค หรือชุด PPE มากยิ่งขึ้น รวมทั้งในเรื่องของคนไทยที่อยู่ต่างประเทศนั้น ทั้งนักเรียนไทย ทั้งพระภิกษุที่ไปเรียนต่างประเทศ 1,000 รูป และแรงงานไทยอยู่ต่างประเทศอีกเป็นแสนคน ท่านนายกฯ จึงสั่งให้กระทรวงต่างประเทศตั้งทีมไทยแลนด์ในแต่ละประเทศ เพื่อช่วยเหลือเรื่องนี้
5.มาตรการป้องกัน ซึ่งเป็นมาตรการไว้เตรียมสำหรับคนไม่เจ็บไม่ป่วย แต่สำคัญมาก แต่ขอย้ำว่า เรายังไม่ประกาศว่าไทยเข้าสู่โควิด-19 ระยะ 3 แต่เป็นการเตรียมพร้อมเข้าระยะที่ 3 โดยเน้นมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้น หมายถึงผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่ประกาศเป็นเขตโรคติดต่อ คือ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี และ 2 เขตคือฮ่องกง และมาเก๊า โดยต้องเข้มงวดมากขึ้น ส่วนประเทศอื่นๆ ยังไม่ประกาศ ขอดูสถานการณ์รายวัน แต่จะมีมาตรการเข้มงวด ทั้งการจะได้ตั๋วโดยสารเครื่องบิน ต้องมีใบรับรองจากแพทย์ และต้องทำประกันสุขภาพ และยินยอมเมื่อเข้าไทย ต้องให้ทางการไทยติดตั้งแอปพลิเคชันในมือถือ เพื่อเป็นการติดตามตัวต่อไป ใครอยู่ที่ไหน พักที่ไหน เคลื่อนย้ายไปไหนต้องรายงานผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
“นอกจากนี้ ในเรื่องของวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากมีการเดินทางอาจมีการแพร่เชื้อได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขกังวลเรื่องนี้ และยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องการเดินทางไปยังพาหนะเดียวกัน มีการสังสรรค์ ทุกอย่างเกิดความเสี่ยงได้หมด เราต้องช่วยกันลดความเสี่ยง ป้องกันไม่ให้บุตรหลานที่จะกลับไปบ้าน แต่ตนเองไม่รู้ตัวว่าป่วยอาจเป็นพาหะนำโรคได้ ดังนั้น วันสงกรานต์ 13-15 เม.ย. 63 จะไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และไม่ใช่วันหยุดงานของภาคเอกชน แต่จะชดเชยวันหยุดเป็นกรณีต่อไป และจะนำเข้า ครม.พรุ่งนี้(17 มี.ค.)” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างคือ การสัมผัสใกล้ชิด ทั้งสารคัดหลั่ง ทั้งเหงื่อก็มีความเสี่ยง โดยสถานที่ใดที่มีการชุมนุมกันมากๆ และชุมนุมเป็นกิจวัตร และมีโอกาสเสี่ยงสูง ไม่ได้นั่งนิ่งๆ เงียบๆ แต่มีกิจกรรม การเคลื่อนไหว การพูดจา การสัมผัส และยากต่อการแยกที่นั่งให้ห่าง 1-2 เมตร สถานที่ใดเข้าข่ายเหล่านี้ หากมีทางเลี่ยงไม่ต้องจัดกิจกรรมก็ให้เสนอที่ประชุม ครม. แต่ระหว่างนี้ให้ปิดชั่วคราว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.เป็นต้นไป โดยตัวอย่างสถานที่เหล่านี้คือ มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งอาจใช้ทางเลี่ยงโดยเรียนออนไลน์
- 39 views