จีนเผยระยะฟักตัวโคโรนาไวรัส 2019 ไม่นานอย่างที่คิด เฉลี่ยแค่ 2-7 วัน ห่วงหลังโรงงานเปิดทำการจากหยุดยาว ยอดอาจ “พุ่ง” กว่าที่คิด ด้านอุตสาหกรรมหลายแห่งยังซบเซา เหตุต้องกักตัวพนักงานอีกอื้อ ชาวต่างชาติ 1 ใน 3 ยังลาพักต่อ ไม่กลับเข้าจีน แต่รัฐบาลเชื่อ เดือน มี.ค. ธุรกิจทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ
นพ.จง นันชาน ที่ปรึกษาด้านการแพทย์อาวุโสของรัฐบาลจีน หนึ่งในนักระบาดวิทยาผู้ค้นพบโรคซาร์ส เมื่อปี 2546 เปิดเผยการศึกษาล่าสุด พบว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 1,099 คน มีผู้ป่วยเพียง 1 ราย เท่านั้น ที่พบการฟักตัวของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) นานเกิน 24 วัน และมีเพียง 13 รายเท่านั้น ที่มีระยะฟักตัวของเชื้อ นานเกิน 14 วัน โดยเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีระยะการฟักตัวเฉลี่ย 2 – 7 วัน สั้นกว่าที่คาดไว้ตั้งแต่แรก
ส่วนปัญหาชุดตรวจในจีน “ไม่แม่นยำ” นั้น นพ.จง กล่าวว่า ล่าสุด ไม่พบปัญหาใด ๆ กับชุดตรวจ หากมีการเก็บตัวอย่างอย่างถูกต้อง และขั้นตอนสำคัญก็คือการแยกผู้ป่วยโควิด – 19 ออกจากผู้ป่วยหวัดทั่วไปให้ได้รวดเร็วที่สุด และมากที่สุด หากไม่สามารถแยกตัวผู้ป่วยโควิด – 19 ออกมาได้ การระบาดจากคนสู่คน ก็จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ
ด้านนักวิจัยอีกทีมจากมหาวิทยาลัย ออสติน เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาผ่านเว็บไซต์ bioRxiv เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีประสิทธิภาพในการ “ระบาด” จากมนุษย์สู่มนุษย์ ได้มากกว่าโรคซาร์สเกิน 20 เท่า
ขณะที่วารสารรายสัปดาห์ของกรมควบคุมโรคจีน ได้ตีพิมพ์รายงานฉบับใหม่พบว่า ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ตัวเลขการระบาด ยังคง “ลดลง” เรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าการควบคุมโรคในจีนมาถูกทาง แต่ก็มี “ความท้าทาย” สำคัญ เนื่องจากบางโรงงาน บางองค์กรขนาดใหญ่ ได้เปิดทำงานแล้ว หลังจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขยายวันหยุด “ตรุษจีน” ออกไปอีก 1 สัปดาห์ ซึ่งในสัปดาห์นี้ อาจพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น หลังจากผู้คนกลับมาทำงานตามปกติ
ทั้งนี้ มีความพยายามจากรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นหลายเมือง เพื่อให้โรงงาน – สายการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กลับมาเปิดทำการตามปกติอีกครั้ง เพราะหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่โรงงานตัดสินใจหยุดทำการ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนั้น เศรษฐกิจจีนได้ “หยุดชะงัก” และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ต่อไปอีกหลายประเทศ
เพราะจีน ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้โรงงานในอีกหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก ไม่สามารถเดินหน้าผลิตต่อได้ เพราะขาดชิ้นส่วนจากจีน
แต่การกลับมาทำงานของคนงานก็มีความเสี่ยงอย่างหนักเช่นกัน เพราะอย่างที่รู้ โรคนี้มีระยะฟักตัวที่ไม่ปกติ และในบางเคส ผู้ป่วยที่มีเชื้อในตัว ไม่แสดงอาการ ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ สัปดาห์ที่แล้วบริษัท Gree Electric ผู้ผลิตแอร์รายใหญ่ที่สุดในเมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง พบว่า คนขับรถบัสส่งพนักงานชื่อเฟง มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด – 19 ทำให้แผนกทรัพยากรบุคคลของ Gree Electric ต้องประกาศให้พนักงานทุกคนที่ใกล้ชิดกับเฟง หรือใกล้ชิดกับคนที่มีโอกาสติดไวรัสจากเฟง ต้องหยุดงานอยู่บ้านต่อไป จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าจะแข็งแรงพอ ไม่มีการแพร่เชื้อต่อ
อีกหนึ่งเคสในนครฉงชิ่ง พนักงานมากกว่า 130 คน ในบริษัทฉงชิ่ง ไทเทเนียม ต้องถูกกักกันตัวเพื่อควบคุมโรค ขณะเดียวกัน สายการผลิตก็ต้องหยุดทั้งหมดตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะเพิ่งกลับมาเปิดใหม่หลังหยุดยาวในช่วงตรุษจีนก็ตาม สาเหตุสำคัญมาจากมีการตรวจพบเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ในพนักงาน 2 คนของบริษัท ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงต่อกันไปมา ก็พบว่า พนักงานจำนวนมาก อาจมีเชื้อในร่างกายไปเรียบร้อยแล้ว เพราะค่าเฉลี่ยขณะนี้ 1 คน อาจสามารถแพร่เชื้อต่อได้มากถึง 4-5 คน
โรงงานอีกแห่งในนครเซินเจิ้น เมืองอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำคัญของจีน ต้องปิดโรงงานทันทีเช่นเดียวกัน แม้จะมีกำหนดเปิดตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สาเหตุสำคัญก็คือมีการกักกันตัวพนักงานเพื่อตรวจสอบเชื้ออีกมากกว่า 2,371 คน ซึ่งแน่นอนว่า เคสนี้ไม่ใช่เคสเดียว แต่ยังมีอีกหลายโรงงาน ประสบปัญหาแบบเดียวกัน
ทั้งหมดนี้ ยังส่งผลกระทบกับ “แรงงานต่างชาติ” ในจีน ที่มีจำนวนสูงถึง 291 ล้านคน โดยตัวเลขล่าสุดที่ทางการจีนได้รับ มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่กลับมาทำงานในจีน โดยส่วนใหญ่ ยังคงเลือก “ลาพัก” อยู่ในประเทศของตัวเอง โดยจีนหวังว่า แรงงานกว่า 100 ล้านคน จะกลับมาทำงานในจีนช่วงต้นเดือน มี.ค. และสายการผลิตที่หยุดพัก จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ขณะที่ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า แม้ตัวเลขหลายอย่างจะบ่งชี้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ในจีน เป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ล่าสุด ยังไม่เป็นที่น่าวางใจ และสถานการณ์อาจเปลี่ยนได้ทุกวัน
“ขณะนี้ ถือว่าเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าโรคระบาดนี้ ‘คลี่คลาย’ แล้ว และเรายังต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับทุกสถานการณ์เสมอ” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าว
ที่มา
2.Coronavirus: more than two thirds of China’s migrant labourers not yet back at work (www.scmp.com)
3.WHO urges caution as omnibus coronavirus study shows decline in China cases (www.scmp.com)
- 127 views