การศึกษาชิ้นใหม่พบผู้ป่วยน้อยกว่าครึ่งมีอาการไข้ในระยะเริ่มแรก ส่งผลผู้ป่วยจำนวนมากตกหล่น จีนเริ่มขาด “ชุดตรวจ” อาจทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ด้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนสั่งปลด “บิ๊กสาธารณสุข” อู่ฮั่นเซ่นหมอแฉความลับตาย
การศึกษาชุดใหม่ นำโดย นพ.จง นันชาน นักระบาดวิทยาชาวจีน ผู้ค้นพบโรคซาร์สเมื่อปี 2546 และทีมนักวิจัยอีกกว่า 36 คน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร MedRxiv เมื่อเร็วๆนี้ รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโรคโคโรนาไวรัส 2019 กว่า 1,000 ราย จาก 552 โรงพยาบาล และ 31 จังหวัดทั่วจีน พบว่า “ระยะฟักตัว” ของโรค อาจยาวนานถึง 24 วัน หักล้างข้อมูลชุดเดิมที่ระบุว่าสูงสุด 14 วัน นอกจากนี้ น้อยกว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อ ที่แสดงอาการโรคนี้ออกมาชัดเจนในครั้งแรกที่เข้าพบแพทย์
ทั้งนี้ มีเพียง 43.8% ของผู้ป่วยเท่านั้น ที่มีอาการไข้ในระยะเริ่มแรก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับโรคซาร์ส และโรคเมอร์สแล้ว พบว่า โคโรนาไวรัส 2019 ผู้ป่วยมีไข้น้อยกว่าชัดเจน ทำให้ในระยะเริ่มแรกระบบ “คัดกรอง” ไม่สามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังอย่างถูกวิธีได้ เพราะไปเน้นหนักเฉพาะการ “วัดไข้” เท่านั้น
สำหรับระบบการตรวจวินิจฉัยโรคโคโรนาไวรัสในจีน จะเริ่มต้นจากการนำผู้ป่วยเข้าเครื่องซีทีสแกน และหากพบสัญญาณการติดเชื้อไวรัส ก็จะมีสัญญาณบ่งบอกผ่านแสงสะท้อน “รอยฝ้า” บนกระจกฝ้าบริเวณปอด ภายหลังผ่านเข้าเครื่องซีทีสแกน และนำไปสู่ขั้นตอนตรวจเชื้อผ่านกระบวนการตรวจสอบกรดนิวคลีอิก (NATs) ของเชื้อไวรัสต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากจำนวนคนไข้ 840 คน ที่ผ่านเครื่องซีทีสแกน มีเพียง 46 คนเท่านั้น ที่มีแสงสะท้อนของเชื้อไวรัส นั่นหมายความว่า การตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนเพียงอย่างเดียว จะไม่ได้ผลที่แท้จริงอย่างแน่นอน
คณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน ได้เปลี่ยนวิธีตรวจวินิจฉัยโรคอีกครั้ง โดยเลิกใช้เครื่องซีทีสแกน เพื่อตรวจสอบโรคโคโรนาไวรัสอีกต่อไป แต่ก็เกิดความกังวลใหม่ เพราะการตรวจเชื้อผ่านวิธี NATs อาจเกิดผลที่ผิดพลาดได้บ่อยครั้ง ทำให้แพทย์จำนวนหนึ่ง ยังยืนยันให้ใช้วิธีการตรวจกรดนิวคลีอิก ควบคู่ไปกับการตรวจผ่านเครื่องซทีสแกนเหมือนเดิม
การศึกษาชิ้นนี้สอดคล้องกับการตรวจผู้ป่วยชาวจีนที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งมีการตรวจเชื้อด้วยวิธีการปกติ 2 รอบไม่พบ กระทั่งเจาะน้ำในปอด เป็นรอบที่ 3 ถึงได้พบโคโรนาไวรัสว่ามีอยู่จริง
ปัญหาก็คือ ณ ขณะนี้ จีน โดยเฉพาะในมณฑลหูเป่ยมีจำนวน “ชุดตรวจ” กรดนิวคลิอีกที่ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยหลายคนที่มีไข้สูง หายใจลำบาก ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้ และนำไปสู่การรักษาที่ล่าช้า มิหนำซ้ำ โรคนี้ ยังต้องใช้การตรวจหลายครั้ง จนกว่าจะสามารถยืนยันผลการติดเชื้อได้
สำนักข่าวหลายสำนักเห็นตรงกันว่า เหตุที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มคงที่ หรือลดลง ตลอด 4-5 วันที่ผ่านมา อาจไม่ได้เป็นเพราะจีนเอาอยู่ แต่เป็นเพราะการตรวจคัดกรองไม่สามารถทำได้เต็มที่ โดยผู้ป่วยจริง ๆ อาจสูงกว่าตัวเลขที่ทางการแถลงหลายเท่า
ทั้งนี้ รัฐบาลจีน ได้อนุมัติให้บริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์รายใหม่ 7 บริษัท เป็นผู้ผลิตชุดตรวจกรดนิวคลีอีกอย่างเร่งด่วน ภายในเวลา 2 สัปดาห์ แต่ปัญหาก็มีตามมาอีกคือชุดตรวจนี้ ไม่ใช่ “คำตอบ” สำหรับทุกอย่าง เนื่องจากเมื่อตรวจเสร็จ ยังต้องนำไปเข้าแล็บเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างของไวรัสต่อไป
เมื่อต้องผ่านขั้นตอนจำนวนมาก หากผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผล ทำให้ผลที่ออกมาไม่แม่นยำ นพ.หวัง เฉิน ประธานสถาบัน Chinese Academy of Medical Science ยอมรับผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ความแม่นยำของการตรวจโรคโคโรนาไวรัสผ่านกระบวนการตรวจเหล่านี้ อยู่ที่ 30-50% เท่านั้น
ล่าสุด รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขของมณฑลหูเป่ย 2 ราย ได้แก่ จางจิน เลขาธิการคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติ ประจำมณฑลหูเป่ย และ หลิวหยิงซี ผู้อำนวยการประจำคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติหูเป่ยออกจากตำแหน่ง
รัฐบาลจีน ได้ส่ง หวัง เหเจง รองผู้อำนวยการคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน ไปรักษาการแทนทั้ง 2 ตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ยังได้ส่ง เฉิน ยี่ซิน มือกฎหมายระดับต้นๆ ของพรรคฯ เข้าไปในหูเป่ย เพื่อเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ด้วย
ทั้งหมดนี้ คาดว่าเป็นผลพวงจากการเสียชีวิตของ นพ.หลี่ เหวินเหลียง แพทย์ผู้ออกมาเตือนเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และถูกทางการหูเป่ยสอบสวน – ดำเนินคดี ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ชาวจีนจำนวนมากโกรธแค้นรัฐบาลมณฑลหูเป่ย และลามไปจนถึงรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน
อ้างอิงจาก
1.Coronavirus: New study finds incubation period of up to 24 days www.straitstimes.com
3.Coronavirus: China’s Hubei province health officials removed over outbreak www.scmp.com
- 34 views