สถาบันสุขภาพอาเซียน สปสช. เปิดอบรม “หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะผู้นำสร้างหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น” เพิ่มศักยภาพ อปท. ผู้นำท้องถิ่น บริหารจัดการ กปท. ร่วมพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนในท้องถิ่น
ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม - เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศ. นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในนามอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” จัดโดยสถาบันสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผศ.ดร.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ผศ.ดร.อรุณศรี มงคลชาติ ประธานหลักสูตรการจัดการสาธารณสุขมูลฐานมหาบัณฑิต และ นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ในฐานะผู้แทน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมพิธีเปิดการอบรม มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บุคลากรท้องถิ่น นักวิชาการ เข้าร่วมอบมรมทั้งสิ้น 70 คน
ศ. นพ.บรรจง กล่าวว่า สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนซึ่งเป็นสถาบันสำคัญแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีกิจกรรมทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.)” ที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยได้ลงนามความร่วมมือ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ในการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือพื้นที่ ที่มีการดำเนินงานด้านสาธารณสุข ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่บริหารกองทุน กปท. ได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง โปร่งใส สอดคล้องกับความต้องการของสังคมโลกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนและประชาชนทุกคน
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้ สปสช.ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยตามมาตรา 47 กำหนดให้ท้องถิ่นมีบทบาทร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น โดยมี อปท.เป็นผู้ดำเนินงาน โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดสรรงบประมาณสนับสนุน และส่วนหนึ่งเป็นงบจากท้องถิ่นที่ร่วมสมทบ ปัจจุบันมี 3 กองทุนที่ร่วมดำเนินการกับท้องถิ่น คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด และกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” (Long term care: LTC)
การดำเนินงาน 3 กองทุนนี้ทำให้เกิดระบบสุขภาพชุมชนในระดับท้องถิ่น ร่วมดูแลและแก้ไขปัญหาสุขภาพชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลผู้สูงอายุ พัฒนาเด็กเติบโตสมวัย จัดการโรคเรื้อรัง (NCDs) แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่ เป็นต้น หลายพื้นที่ยังเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ และเพื่อเป็นการเสริมศักยภาพการดำเนินงาน กปท. ให้กับท้องถิ่น สปสช.จึงได้ร่วมกับสถาบันสุขภาพอาเซียนในการจัดการอบรมครั้งนี้
“สปสช.เป็นเพียงผู้สนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินงานสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างราบรื่น โดยวันนี้เป็นการทำงานร่วมกับสถาบันสุขภาพอาเซียนในการพัฒนาหลักสูตรและจัดการอบรมที่เครื่องมือสำคัญ ทำให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพในชุมชนของทุกท่านได้อย่างมั่นใจ”
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการกระจายอำนาจให้กับ อปท. ในการบริหารจัดการพื้นที่ ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 รวมถึงการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส ทั้งในด้านการสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล นำมาสู่การบูรณาการ การทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้เริ่มจัดตั้ง กปท.ในปี 2549 โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลร่วมนำร่อง 888 แห่ง และมีการขยายจนครอบคลุมมากกว่า 7,000 แห่ง
ทั้งนี้งานด้านสาธารณสุขแม้เป็นส่วนหนึ่งในงานหลายด้านที่ท้องถิ่นต้องดำเนินการ แต่มีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และท้องถิ่นต่างตื่นตัวเรื่องนี้ดังนั้นกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของท้องถิ่น รวมถึงการดำเนินงาน กปท. และเชื่อมั่นว่าการอบรมในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาระบบสาธารณสุขในท้องถิ่นให้มีความก้าวหน้าต่อไป
- 25 views