ครม.ไฟเขียวยกระดับ สปสช. “องค์การมหาชนกลุ่มที่ 1 พัฒนาและดำเนินตามนโยบายสำคัญของรัฐเฉพาะด้าน” สะท้อนผลงาน 17 ปี สปสช.รุกสนองนโยบายรัฐ ขยายภารกิจพัฒนาระบบสุขภาพประเทศ นอกเหนือบริหารงบ “กองทุนบัตรทอง”

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบปรับกลุ่มสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็น “องค์การมหาชนกลุ่มที่ 1 พัฒนาและดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐเฉพาะด้าน” จากเดิมที่ถูกจัดอยู่ในองค์การมหาชนกลุ่มที่ 3 บริการสาธารณะทั่วไป ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ

การปรับ สปสช.เป็นองค์การมหาชนกลุ่มที่ 1 ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ได้ให้พิจารณาศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการยกระดับกลุ่มองค์การมหาชนของ สปสช. และเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เพื่อพิจารณาและนำเสนอต่อ ครม.เห็นขอบ เนื่องจากบทบาทภารกิจ สปสช.ในปัจจุบันมีความซับซ้อน หลากหลาย และขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้นจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก รวมทั้งต้องเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ภาระงานและความรับผิดชอบของ สปสช.มีขอบเขตกว้างขวางกว่าการบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนด ตามมาตรา 26 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ 2545

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในองค์ประกอบขององค์การมหาชนกลุ่มที่ 1 คือ 1.ขับเคลื่อนงานสำคัญของรัฐบาล ให้เกิดผลในทางปฏิบัติภายใต้ระยะเวลาจำกัด ได้แก่ การทำให้ประชาชน 48 ล้านคนทั่วประเทศมีหลักประกันสุขภาพคุ้มครอง ผลักดันนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ เพื่อคุ้มครองประชาชน การดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงบริการสุขภาพ การร่วมจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของประเทศ การร่วมบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ เป็นต้น 2.ต้องการผู้บริหารที่มีความสามารถสูงเพื่อบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหาร สปสช.สามารถขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ได้สำเร็จ บรรลุเป้าหมาย และ 3.ต้องบริหารเครือข่าย ซึ่งการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เพียงแต่ได้สร้างเครือข่ายในประเทศ แต่ยังขยายผลโดยมีความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ และประเทศต่าง ๆ สปสช. จึงนับเป็นองค์กรที่มีคุณสมบัติการเป็นองค์การมหาชนกลุ่มที่ 1

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การที่ ครม.เห็นชอบยกระดับ สปสช.เป็นองค์การมหาชนกลุ่มที่ 1 ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับ สปสช. และสะท้อนให้เห็นการดำเนินงานของ สปสช. ในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยในช่วง 17 ปี ที่ผ่านมาของกองทุนฯ สปสช. แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ช่วงก่อร่างสร้างระบบ ปี 2545–2550 ขยายความครอบคลุมหลักประกันให้ประชาชนผู้มีสิทธิส่งเสริมความรู้ความเข้าใจกับภาคีทุกภาคส่วน และสนับสนุนพัฒนาความเข้มแข็งของระบบบริการ เช่น บริการปฐมภูมิ เป็นต้น

ระยะที่ 2 ช่วงการพัฒนา ปี 2551 – 2555 ต่อยอดการดำเนินงาน ขับเคลื่อนการบริหารงบประมาณ/จัดการกองทุนอย่างมีส่วนร่วม พัฒนาระบบบริหารจัดการภายในองค์กร ขยายการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย

และพัฒนาการสื่อสารเพื่อการรับรู้สิทธิ/การคุ้มครองสิทธิ

ระยะที่ 3 ช่วงขับเคลื่อนนโยบายบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ

ปี 2556 – 2560 ออกแบบบริหารกองทุนรูปแบบใหม่ ขับเคลื่อนการบูรณาการ 3 กองทุน ทำหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมาย อาทิ หน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกองทุนสุขภาพภาครัฐและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข (National Cleaning House : NCH) หน่วยงานกลางในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน (National Beneficiary Registration Center) ร่วมพัฒนาระบบการเข้าถึงยาที่มีปัญหา การเข้าถึงกลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษที่มีอัตราการใช้ต่ำและไม่แน่นอน เป็นต้น การเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมในพื้นที่ร่วมกับภาคี เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) สร้างความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผ่านกลไกและมาตรการต่าง ๆ

ระยะที่ 4 พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ปี 2561 – 2565 ขับเคลื่อนพันธสัญญาและหน้าที่รับผิดชอบของ สปสช. กลไกคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และภาคี ปรับรูปแบบบริหารกองทุนและจ่ายชดเชยค่าบริการเพื่อประชาชนเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพ นำดิจิตอลเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงการเข้าถึงบริการ วางรากฐานการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้านหลักประกันสุขภาพของไทย และขับเคลื่อนงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยในเวทีประชาคมโลกโดยร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะต่อไป นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.ได้วางทิศทางดำเนินงาน โดยจะมุ่งจัดหาบริการให้เพียงพอและผู้มีสิทธิได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิผลความครอบคลุมบริการ ออกแบบบริหารกองทุนรองรับการขยายสิทธิประโยชน์ พัฒนาประสิทธิภาพบริหารจัดการกองทุน พัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน แสวงหาแหล่งเงินใหม่เข้าสู่ระบบ ร่วมขับเคลื่อนบทบาทไทยในเวทีโลกด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลและทิศทางระบบสุขภาพโลกและการบรรลุเป้าหมาย SDGs ในการผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า