สช.ผนึกภาคีจัดมหกรรมสร้างสุขที่ปลายทางครั้งที่ 3 เปิดพื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคอง และสิทธิการตายดี “อธิบดีกรมการแพทย์” ประกาศเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายอย่างไร้รอยต่อ ชุมชน-หน่วยบริการ ด้าน “นพ.ประทีป” ย้ำ มาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ให้สิทธิประชาชนแสดงเจตนารมณ์ไม่รับการรักษาเพียงเพื่อยื้อชีวิตในระยะสุดท้าย เพื่อการจากไปอย่างสงบและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงาน “สร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 3” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายอีกกว่า 10 องค์กร ระหว่างวันที่ 20-21 ก.พ. 2563 โดยได้ปาฐกถาถึงสถานการณ์และความจำเป็นของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (palliative care) ตอนหนึ่งว่า การดูแลแบบประคับประคองเป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ทั่วโลกใช้กัน เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการตายดี คือการจากไปอย่างสบาย และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดว่าการดูแลแบบประคับประคองเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงก็คือมีเด็กที่ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิตกว่า 90% ที่ต้องการการดูแลแบบนี้ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นก็คือการทำให้คนทุกกลุ่มวัยเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง และครอบคลุมในทุกโรคที่เข้าสู่ภาวะสุดท้ายของชีวิต
นอกจากนี้ ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุประมาณ 20% ขณะเดียวกันแนวโน้มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในคนไทยก็เพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่าอัตราการเจ็บป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนให้การดูแลแบบประคับประคองมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดนโยบายการดูแลแบบประคับประคองให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบสุขภาพ (Service Plan) รวมทั้งมีนโยบายการพัฒนาสุขภาพปฐมภูมิเพื่อสนับสนุน เราจะทำงานเรื่องนี้แบบไร้รอยต่อ คือมีการประสานการทำงานระหว่างชุมชน หน่วยบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และสามารถสร้างสุขที่ปลายทางได้อย่างแท้จริง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่ให้การรับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พร้อมทั้งคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลที่ได้ทำหนังสือแสดงไว้ ให้ถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดและพ้นจากความรับผิดทั้งปวง
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การรับรู้ของประชาชนรวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุขในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง และสิทธิการตายตามธรรมชาติยังมีอยู่จำกัด เนื่องจากองค์ความรู้เหล่านี้เพิ่งเริ่มมีในประเทศไทยไม่นานนัก ขณะเดียวกันการขับเคลื่อนเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สช.จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 10 องค์กร จัดงานสร้างสุขที่ปลายทางขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เพื่อให้เกิดพื้นที่กลางในการร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการแนวทางการทำงานและนำไปสู่การขยายผลพัฒนาองค์ความรู้ต่อไปในระยะยาว พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดกระบวนการการสื่อสารทางสังคมเพื่อยกระดับการรับรู้ของสังคม
“มาตรา 12 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันให้นโยบายการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะท้ายขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในหน่วยบริการหรือชุมชน ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีในวาระสุดท้าย และจากไปอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นพ.ประทีป กล่าว
อนึ่ง ประชาชนที่สนใจหรือต้องการศึกษาแนวทางการเขียนหนังสือเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน รวมถึงแนวทางการดูแลแบบประคับประคอง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailivingwill.in.th และ Facebook : สุขปลายทาง หรือ โทร 0 2832 9100
- 85 views