ชมรมนักสาธารณสุขในโรงพยาบาลร่อนหนังสือถามรัฐมนตรีสาธารณสุข ข้องใจเจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉินและนักวิชาการสาธารณสุขที่ไม่ได้สังกัด รพ.สต.และกรมควบคุมโรค ไม่ถูกจัดให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ชี้อยากให้มีคำอธิบายที่ชัดเจนแก่ผู้มีส่วนได้เสียหรือถ้าเป็นไปได้ควรทบทวนเสียใหม่
นายนรภัทร ศรีชุม ผู้ประสานงานชมรมนักสาธารณสุขในโรงพยาบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสอบถามและเสนอให้ทบทวนบัญชีตำแหน่งในสายงานแพทย์และสายงานที่เกี่ยวข้องกับงานบริการทางการแพทย์ตามหนังสือที่ นร.1008/ว 11 เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปลี่ยนชื่อในสายงาน ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2562
นายนรภัทร กล่าวว่า บัญชีตำแหน่งตามหนังสือ ว 11 ไม่ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่นักวิชาการสาธารณสุข มีกำหนดให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะที่อยู่ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และกรมควบคุมโรคเท่านั้น จึงเกิดข้อสงสัยว่า อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มีหลักเกณฑ์ในการแบ่งอย่างไร
นายนรภัทร ยกตัวอย่างเช่น กรมควบคุมโรค นักวิชาการสาธารณสุขทั้งหมดเข้าข่ายเป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่นักวิชาการสาธารณสุขในโรงพยาบาลทุกระดับ รวมถึงในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือในกรมอื่น ๆ ก็ตามไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ถ้าดูลักษณะงานแล้ว นักวิชาการสาธารณสุขในโรงพยาบาลโดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนก็ทำหน้าที่ดูแลประชาชนในเขตพื้นที่ที่โรงพยาบาลรับผิดชอบ เช่น งานระบาดวิทยา เวลามีเคสก็ต้องลงพื้นที่ไปควบคุมโรค สอบสวนโรคเช่นกัน ขณะเดียวกัน ถ้าแบ่งตามเกณฑ์ของการทำงาน ทำไมทุกวิชาชีพในระดับ สสจ. และระดับเขต ถึงยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์อยู่ เช่น พยาบาล อยู่ สสจ. ก็ยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์
"ข้อที่สงสัยมากที่สุดคือวิชาชีพเวชกิจฉุกเฉินซึ่งดูแลคนป่วยชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในห้องฉุกเฉิน การไปรับคนป่วย ณ ที่เกิดเหตุ การบริการผู้ป่วยบนรถฉุกเฉิน กลับกลายเป็นไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ เราจึงสงสัยว่าวัตถุประสงค์ของผู้ใหญ่ที่แบ่งแบบนี้ขึ้นมาเพราะอะไร”
นายนรภัทร กล่าวต่อไปว่า ข้อกังวลในขณะนี้มี 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ 1.ถ้าเกิดความผิดพลาดแก่ผู้ป่วยขึ้นมา ก็ไม่มีอะไรรองรับว่าคนเหล่านี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เช่น โรคโควิด- 19 ถ้านักวิชาการสาธารณสุขในโรงพยาบาลเข้าไปสอบสวนโรคแล้วติดเชื้อขึ้นมา ขณะเดียวกันมีแพทย์หรือพยาบาลติดเชื้อไวรัสเช่นกัน โอกาสที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาจะยึดตามตัวหนังสือหรือลักษณะการปฏิบัติงาน หรือถ้าเกิดเหตุเจ้าพนักงานสาธารณสุขทำการดูแลคนป่วยที่ รพ.สต. แล้วเกิดความผิดพลาด ใครเป็นคนรับผิดชอบเพราะไม่ได้ถูกจัดเป็นบุคลากรทางการแพทย์
2.จะมีผลกระทบค่าตอบแทนในอนาคตหรือไม่ เช่น ถ้านักวิชาการสาธารณสุขได้รับเงินประจำตำแหน่ง แล้วนักวิชาการสาธารณสุขที่ไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์จะเข้าข่ายหรือไม่
"ข้อกังวลของเรายังมีเรื่องลักษณะงานด้วย เพราะแม้หนังสือ ว 11 จะออกมา แต่ในการปฏิบัติก็ยังไม่ได้แบ่งชัดเจนว่าเมื่อมีหลักเกณฑ์นี้แล้ว นักวิชาการสาธารณสุขในโรงพยาบาล เจ้าพนักงานสาธารณสุขและเจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉินต้องเปลี่ยนบทบาทหรือไม่อย่างไร ด้วยเหตุนี้เราจึงยื่นหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสอบถามว่าคำจำกัดความคำว่าบุคลากรทางการแพทย์มีเกณฑ์อย่างไร อยากให้มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าเพราะอะไร คนที่ไม่ได้อยู่ในตาราง ว.11 จัดอยู่ในกลุ่มไหน ไม่ใช่มีกระดาษ 2 แผ่นออกมาแล้วไม่อธิบายอะไรเลย อย่างน้อยเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปทำความเข้าใจหรือถ้าเป็นไปได้ก็ทบทวนใหม่ อย่างน้อยนักวิชาการสาธารณสุขที่ได้ใบประกอบวิชาชีพควรจัดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพราะใน พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน มีการกำหนดเรื่องการบำบัดโรคเบื้องต้น ซึ่ง พ.ร.บ.ควรจะใหญ่กว่าหลักเกณฑ์" นายนรภัทร กล่าว
นายนรภัทร กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ดูเหมือนไม่ใหญ่แต่มีผลกระทบพอสมควร ขณะนี้ทางเครือข่ายจะรอดูว่าใน 1-2 เดือน ทางผู้ใหญ่ในกระทรวงจะมีท่าทีอย่างไร หากยังไม่มีความชัดเจนก็อาจต้องรวมตัวเจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน และนักวิชาการสาธารณสุขไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง
"ไม่อย่างนั้นต่อไปถ้าไม่ได้กำหนดให้เราเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เราก็จะมาทบทวนว่าบทบาทเราเป็นอย่างไร เพราะถ้าไปทำเกินหน้าที่แล้วผิดพลาดขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ" นายนรภัทร กล่าว
- 2511 views