เปิดข้อมูล 4 เดือน รุกโครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน มี 91 โรงพยาบาล และ 750 ร้านยา เข้าร่วมโครงการแล้ว เผย รพ.ขอนแก่น มีร้านยาร่วมเครือข่ายบริการมากสุด 50 แห่ง รพ.ลำพูน มีผู้ป่วยร่วมโครงการมากสุด 480 คน ขณะที่ภาพรวมผู้ป่วยร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีจำนวน 2,453 รายแล้ว
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ได้ดำเนินงานโครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เพื่อช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลรัฐ หรือโครงการรับยาใกล้บ้าน โดยร่วมกับ สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาได้มีโรงพยาบาลและร้านยาแผนปัจจุบันเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ซึ่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินโครงการจำนวน 91 แห่ง ขณะที่มีร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เข้าร่วมให้บริการจำนวน 750 แห่ง จาก 55 จังหวัด
ทั้งนี้จากข้อมูลที่มีการรายงานเข้ามาทั้ง 13 เขตนั้น พบว่าในส่วนของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ เขต 13 กทม. มีโรงพยาบาลร่วมโครงการมากที่สุด จำนวน 12 แห่ง รองลงมาเป็นพื้นที่เขต 6 ระยอง จำนวน 11 แห่ง เขต 11 สุราษฎร์ธานี จำนวน 9 แห่ง ส่วนเขต 4 สระบุรี และเขต 10 อุบลราชธานี มีจำนวน 10 แห่ง เมื่อดูข้อมูลร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 นั้น เขต 11 สุราษฎร์ธานี มีร้านขายยาเข้าร่วมโครงการมากที่สุด จำนวน 89 แห่ง รองลงมาเป็นพื้นที่เขต 4 สระบุรี จำนวน 85 แห่ง เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 81 แห่ง และเขต 6 ระยอง จำนวน 80 แห่ง
สำหรับโรงพยาบาลที่มีร้านยาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการร้านยาเพื่อร่วมจ่ายยาให้กับผู้ป่วยมากที่สุด คือ โรงพยาบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น มีร้านยาเครือข่ายจำนวน 50 แห่ง รองลงมาได้แก่ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จ.ภูเก็ต มีร้านยาเครือข่ายจำนวน 36 แห่ง โรงพยาบาลศรีธัญญา จ.นนทบุรี มีร้านยาเครือข่ายจำนวน 35 แห่ง และโรงพยาบาลจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพฯ มีร้านยาเครือข่ายจำนวน 27 แห่ง ส่วนโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการมากที่สุด คือ โรงพยาบาลลำพูน 480 ราย โรงพยาบาลเชียงราย 445 ราย โรงพยาบาลชลบุรี 304 ราย และโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 174 ราย
ส่วนผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาฯ เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อรังอื่นที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ โดยให้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการฯ สะสมแล้ว 2,453 ราย ขณะที่การจ่ายชดเชยค่าจัดบริการ โดยโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับในอัตรา 33,000 บาทต่อร้านยา โดย สปสช.ได้จ่ายชดเชยค่าจัดบริการให้โรงพยาบาลแล้ว 41 แห่ง เป็นจำนวนร้านยา 441 แห่ง ส่วนค่าจัดบริการฯ สำหรับร้านยา 70 บาทต่อใบสั่งยา มีร้านยาที่บันทึกข้อมูลขอเบิกค่าใช้จ่ายแล้ว 2,380 ใบสั่งยา
“การจ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่ร้านขายยาที่ร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการร้านยากับโรงพยาบาล นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของรูปแบบบริการใหม่ของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวรับยานาน สามารถรับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้านหรือร้านยาที่ผู้ป่วยสะดวกรับยา ทั้งช่วยลดความแอออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ และจากข้อมูลรายงานการดำเนินการข้างต้นทั้งหน่วยบริการและร้านยามีจำนวนการเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ในส่วนผู้ป่วยด้วยระยะแรกเป็นการเริ่มต้นระบบ อาจยังมีความไม่เข้าใจและคุ้นชินกับระบบใหม่ แต่ในช่วง 4 เดือนของการดำเนินการพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยมารับยาที่ร้านยาจะเพิ่มมากขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อรองรับการดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมกับสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข และบริษัทเอกชนพัฒนาโปรแกรม เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศในการดูแลผู้ป่วยระหว่างร้านยาและโรงพยาบาลที่เข้าโครงการฯ โดยจะมีการการพัฒนาเว็บเซอร์วิส (Web Service) ระบบข้อมูลการจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ และการจัดทำชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในส่วนของโรงพยาบาลและร้านยาทั่วประเทศ
- 334 views