เผยผลศึกษา ‘กลุ่มประชากรแฝง’ ในเขตเมืองเชียงใหม่ พบปัญหาการขาดข้อมูล-เข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพ เสนอหน่วยงานกระจายการให้บริการสาธารณสุข มุ่งเน้นงานส่งเสริมป้องกัน-ประชาสัมพันธ์ความรู้
น.ส.รัชนี ประดับ ผู้จัดการโครงการพัฒนาข้อเสนอและขับเคลื่อนการเข้าถึงสิทธิสาธารณสุขของกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง เปิดเผยว่า ในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร หรือเชียงใหม่ นั้นมีประชากรแฝงเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ประชากรกลุ่มนี้กลับเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งที่อยู่ในเขตเมืองซึ่งเจริญกว่าเขตชนบท
ทั้งนี้ ตามรายงานของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ปี 2558 ระบุว่าเขตเมืองประสบกับปัญหาที่ท้าทาย และต้องแบกรับโรคที่สำคัญ อันได้แก่ โรคระบาดรุนแรง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ปัญหาอุบัติเหตุ การใช้ความรุนแรง รวมถึงภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากบริบทสิ่งแวดล้อมและรูปแบบการใช้ชีวิตในเมือง
สำหรับประชากรแฝงในเขตเมือง สามารถนิยามได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ (แรงงานต่างด้าว) กลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย (ผู้ที่มีทะเบียนบ้านนอกพื้นที่) และกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะ (ผู้ที่ยังไม่มีบัตรประชาชน อยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ)
น.ส.รัชนี กล่าวว่า จากการสำรวจช่วงระยะเวลา 2 ปีใน จ.เชียงใหม่ พบว่าข้อมูลด้านสุขภาพของกลุ่มประชากรแฝงนั้นมีน้อยมาก และสถิติข้อมูลจำนวนที่น่าจะอยู่จริงยังมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากการเคลื่อนย้ายของแรงงานที่รุนแรง การขาดมาตรการชัดเจนในการติดตามและประเมินประชากรกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะข้อมูลปัญหาโรคระบาด การเข้ารับบริการสาธารณสุขของประชากรแฝง
ขณะเดียวกันได้พบว่าปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งแวดล้อม ทั้งฝุ่นละออง ควันพิษ โดยเฉพาะแรงงานในเขตก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวตามแคมป์งานต่าง ๆ รวมทั้งพบปัญหาด้านการบริโภคอาหาร ปัญหาด้านพฤติกรรมการไม่ดูแลสุขภาพ และปัญหาสำคัญที่สุดคือการไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยมักจะซื้อยากินเองหรือใช้บริการคลินิกเอกชน
น.ส.รัชนี กล่าวอีกว่า ในด้านสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ ประชากรแฝงมักจะไม่ค่อยไปใช้สิทธิที่ตนเองมี ทั้งจากความไม่สะดวกที่ต้องสูญเสียรายได้จากการทำงาน การขาดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสิทธิหรือสถานบริการที่รองรับ ซึ่งกรณีนี้กลับพบว่ากลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถือสิทธิประกันสุขภาพคนต่างด้าว จะรู้ข้อมูล ว่าได้รับสิทธิอะไรบ้าง ต้องใช้บริการที่ใด ต่างจากกลุ่มประชากรแฝงคนไทยที่มีสิทธิบัตรทอง กลายเป็นกลุ่มที่ไม่รู้หรือไม่มั่นใจว่าสิทธิที่มีเป็นอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ยังพบว่าการกระจายตัวของหน่วยบริการสุขภาพในเขตเมืองมีไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะบริการด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่คนในเขตเมืองกลับได้รับสิทธิการเข้าถึงน้อยกว่าคนนอกเขตเมือง ขณะเดียวกันประชาชนเองขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการในระดับปฐมภูมิ จึงไปรับบริการสุขภาพจากโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสุขภาพในเขตเมือง ที่ยังมุ่งเน้นการรักษาพยาบาล มากกว่าการทำงานเชิงรุก การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเป็นหลัก
ในส่วนของเทศบาลตำบลสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีตัวเลขประชากรแฝงสูงกว่าประชากรในพื้นที่มากกว่าเท่าตัว เพราะมีมหาวิทยาลัย มีนักศึกษา คนทำงาน อีกทั้งเป็นที่พักอาศัยของชาวไทใหญ่จำนวนมาก พบว่าปัญหามากที่สุดคือด้านพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ รองลงมาคือการไม่สะดวกไปรับบริการตามสิทธิ
น.ส.รัชนี กล่าวว่า แนวทางหนึ่งคือควรเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รวมถึงการเฝ้าระวังโรคติดต่อจากกลุ่มประชากรแฝง ซึ่งที่ผ่านมาการเฝ้าระวังจะทำได้ดีในกลุ่มประชากรไทย เมื่อเกิดโรคติดต่อ พบว่าเทศบาลมีศักยภาพในการติดตามโรค เฝ้าระวัง ควบคุม แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ อันจะกลายเป็นช่องว่าง
“เรารู้ข้อมูลควบคุมโรคประชากรเรา แต่ในพื้นที่เกินครึ่งเป็นประชากรจากที่อื่นซึ่งไม่มีข้อมูลเลย อุปสรรคสำคัญจึงเป็นการเข้าถึงประชากรแฝง เพราะข้อมูลจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการรับมือได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม” น.ส.รัชนี ระบุ
น.ส.รัชนี สรุปว่า ข้อเสนอต่อ จ.เชียงใหม่ ในภาพรวมคือจัดบริการสาธารณสุขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยกระจายหน่วยบริการอย่างทั่วถึงในเขตเมือง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สนับสนุนการสร้างเครือข่ายสุขภาพในชุมชนเมือง สนับสนุนให้มีอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) รวมทั้งการสร้างความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“เขตเมืองเป็นพื้นที่ใจกลางความเจริญทุกอย่าง และเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย มีกลุ่มประชากรทุกประเภทอยู่ร่วมกัน แต่ระบบบริการด้านสุขภาพต่าง ๆ ในเขตเมืองกลับด้อยกว่านอกเขตเมือง สิ่งสำคัญจากการศึกษานี้จึงเป็นการสำรวจข้อมูลปัญหา เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารให้สังคมเข้าใจถึงสิทธิด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง” น.ส.รัชนี ระบุ
- 537 views