นักวิจัยเผย "ไวรัสโคโรนาแมว" มีจริง แต่เป็นคนละสายพันธุ์กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไวรัสอู่ฮั่น ในทางการแพทย์ได้ตรวจพบไวรัสโคโรนาในสัตว์มานานแล้ว ซึ่งไวรัสโคโรนาในสัตว์นั้นเป็นไวรัสที่จำเพาะเจาะจงในแต่ละสายพันธุ์ จะไม่แพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์สัตว์ และไม่ติดสู่คน เผยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้แมวติดเชื้อ รับยังไม่มียารักษา ทำได้แค่ประคองอาการ
จากกรณีสำนักข่าว เดลีเมล์ รายงานว่า กระแสหวาดผวาไวรัสอู่ฮั่น ทำให้ทางการจีนสั่งให้ประชาชนทิ้งสัตว์เลี้ยงในบ้าน อ้างว่าอาจเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา ทั้งที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่าไม่เคยมีหลักฐานว่าไวรัสโคโรนาจะติดต่อผ่านแมวหรือสุนัขได้
ผศ.สพ.ญ.ดร.ศิรินทร์ ธีระวัฒนศิริกุล นักวิจัย ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ยืนยันข้อมูลเช่นเดียวกันว่า ไวรัสโคโรนา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคในแมวได้เช่นกัน แต่เป็นคนละสายพันธุ์กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไวรัสอู่ฮั่น (nCoV-2019) ในทางการแพทย์ได้ตรวจพบไวรัสโคโรนาในสัตว์มานานแล้ว ซึ่งไวรัสโคโรนาในสัตว์นั้นเป็นไวรัสที่จำเพาะเจาะจงในแต่ละสายพันธุ์ จะไม่แพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์สัตว์ โดยในสุนัขจะมีไวรัสโคโรนาเฉพาะสายพันธุ์ คือ Canine coronavirus ส่วนในแมวไวรัสโคโรนาเฉพาะสายพันธุ์ คือ Feline coronavirus (FCoV) ทั้งนี้โคโรนาไวรัสในสุนัขและแมวนั้นคนละสายพันธุ์กัน ดังนั้นเมื่อติดเชื้อจึงจะแสดงอาการต่างกัน
สำหรับไวรัสโคโรนาในแมว (Feline coronavirus หรือ FCoV) เป็นไวรัสที่สามารถพบได้ในลำไส้ของแมว โดยมักจะพบการแพร่ของเชื้อไวรัสนี้ได้ในการเลี้ยงแมวร่วมกันหลายตัว และใช้กะบะทรายขับถ่ายร่วมกัน เนื่องจากมีการแพร่เชื้อผ่านการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อ ไวรัสตัวนี้จะก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารในแมว แมวอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หรือมีอาการลำไส้อักเสบและท้องเสียไม่รุนแรง ไปจนถึงพัฒนาเป็นโรค “เยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว” (FIP) ที่แมวจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร หายใจผิดปกติ ไปจนถึงมีอาการที่รุนแรงขึ้นคือ พบของเหลวขังตามช่องอกหรือช่องท้อง และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หาย หรือวัคซีนที่ป้องกันไวรัสตัวนี้ให้ได้ผลจริง ๆ ในการรักษาในปัจจุบันจึงเป็นการรักษาแบบพยุงหรือประคับประคองอาการเท่านั้น สำหรับคำถามที่ว่า “มีโอกาสแพร่จากแมวสู่คนได้หรือไม่ ?” นั้น ปัจจุบันยังไม่มีรายงานใดว่ามีการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาในแมวมาสู่คน ทั้งจากการคลุกคลีกับแมวหรือการกินแมว แต่คำแนะนำคือ “เราไม่ควรกินสัตว์ที่ไม่ได้มาจากปศุสัตว์เพื่อการบริโภค ให้กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ สะอาด ใช้ช้อนกลางจะดีที่สุด”
ทั้งนี้ในช่วง ปี 2560 – 2562 ที่ผ่านมา ตนและทีมได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การตรวจคัดกรองโมเลกุลขนาดเล็กที่ยับยั้งโปรติเอสหลักของไวรัสโคโรนาในแมวโดยใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อศึกษายาหรือสารที่มีโมเลกุลเล็กที่สามารถต้านไวรัสโคโรนาในแมว ชนิดที่ก่อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว ที่มีความรุนแรงมากในแมวอายุน้อย หรือแมวที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ และมีอัตราการตายสูง โดยผลงานวิจัย พบสารที่มีโมเลกุลขนาดเล็กที่ต้านการติดเชื้อของไวรัสและต้านการทำงานโปรตีนของไวรัสโคโรนาที่ชื่อ 3C - like protease ได้โดยตรง จำนวน 3 สาร ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาต่อเป็นยารักษาโรคในกลุ่มไวรัสโคโรนาในแมว และโรคไวรัสโคโรนาอื่นๆ ต่อไป
ผศ.สพ.ญ.ดร.ศิรินทร์ กล่าวแสดงทัศนะถึงความสำคัญของงานวิจัยที่มีต่อสังคมว่า “งานวิจัยทุกชิ้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Basic science) ที่ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่จะศึกษาได้อย่างลึกซึ้ง จากจุดเล็กๆ ทีละส่วนขององค์ความรู้ จะสามารถพัฒนาหรือต่อยอดสมบูรณ์มากขึ้น และทำให้เรารู้เท่าทันและรับมือปัญหาปัจจุบันทันที เช่น สภาวการณ์ที่มีโรคระบาด หรือโรคอุบัติใหม่ เป็นต้น สามารถนำความรู้ที่ได้จากผลงานวิจัยมาต่อยอด ตอบโจทย์ปัญหาในสังคม และช่วยทำให้สื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนสังคมได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้องค์ความรู้ที่เป็นจุดเล็กๆ จากผลงานวิจัยจะสามารถมาพัฒนาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในภาวะวิกฤตอย่างกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น”
- 3903 views