สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) และภาคีเครือข่ายโคราชยิ้ม จัดงานเทศกาลโคราชยิ้ม ‘เดิ่นยิ้ม (จะ) เบ่งบาน 2020’ สานต่องานพื้นที่สร้างสรรค์ปี 3 ตอกย้ำเห็นความก้าวหน้าชัดเจน เด็กและเยาวชนผนึกกำลังกว่า 30 เครือข่ายส่งเสียงเชียร์เปลี่ยนเมือง ขับเคลื่อนงานจนผู้ใหญ่มองเห็นและให้ความร่วมมือทุกภาคส่วน นำสู่นโยบายชูโคราชให้กลายเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของเมืองพื้นที่สร้างสรรค์ในประเทศไทย
ปรัชทิพา หวังร่วมกลาง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน เทศกาลโคราชยิ้ม 'เดิ่นยิ้ม (จะ) เบ่งบาน 2020' ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ว่า "คำว่า 'เดิ่นยิ้ม' นั้นมีความหมายถึงพื้นที่สร้างสรรค์ที่เราชักชวนให้เด็ก ๆ มาร่วมกันคิดร่วมกันออกแบบว่า เขาอยากให้ชุมชนของตัวเองเกิดพื้นที่สร้างสรรค์อย่างไร โดยเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนจะร่วมกันมองหาภูมิปัญญา จุดเด่นของชุมชน และนำของดีในชุมชนมายกระดับให้เป็นสื่อการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เกิดเป็นวิถีชีวิตที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพในชุมชน โดยตลอดสามปีที่เราทำงานร่วมกับ สสส. มีเครือข่ายเด็กและเยาวชนที่ทำงานขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์เติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีมากกว่า 30 เครือข่าย ขยายไปกว่า 13 ตำบล 8 อำเภอ ครอบคลุมทุกระดับตั้งแต่โรงเรียน ชุมชน และอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัย"
"ทั้งนี้ สภาพปัญหาของโคราชเป็นพื้นที่กำลังโต การพัฒนาที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กขาดพื้นที่สร้างสรรค์ เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านสื่อโซเชียลทั้งในฐานะผู้รับและผู้ส่งสาร รวมถึงมีพื้นที่สีเทาทั้งร้านเหล้าและแหล่งอโคจรอยู่รอบตัวเด็กจำนวนมาก ขณะเดียวกันเด็กอยู่กับครอบครัวที่ต้องทำงาน ทำให้เด็กส่วนหนึ่งถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว ดังนั้น การขับเคลื่อนกระบวนการพื้นที่สร้างสรรค์ จึงเข้าไปเป็นส่วนช่วยในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้เด็กรู้สึกมีพื้นที่อบอุ่นปลอดภัย เด็กหลายคนที่เคยดำเนินชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย พอมาทำกิจกรรมก็ทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นคุณค่าชุมชน จนนำมาสู่การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคมและชุมชนของตัวเองในที่สุด"
ในส่วนของตัวแทนเยาวชน น.ส.รวีวรรณ อาจสุวรรณ หรือน้องป๊อบ แกนนำเครือข่ายเยาวชนแก๊งลูกวัว จากชุมชนคอกวัว ได้กล่าวว่า "เรามองว่าชุมชนคอกวัวยังขาดพื้นที่เล่น ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ในชุมชนก็พร้อมที่อยากจะสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชน แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมกับเด็ก ๆ ดังนั้น แก๊งลูกวัวจึงทำหน้าที่เป็นตัวประสานระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก ดึงเด็ก ๆ ที่ส่วนใหญ่ติดสื่อโซเชียลให้เข้ามามีส่วนร่วมในชุมชนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตัวอย่างที่โดดเด่นของชุมชนคอกวัวคือการเนรมิตพื้นที่ชุมชนเป็น 'ซอยเล่นซอยศิลป์ ดูวิถีถิ่นบ้านคอกวัว' นำเรื่องราววิถีชีวิตและของดีในชุมชน ถ่ายทอดเป็นภาพศิลปะบนกำแพงในชุมชนยาวกว่า 800 เมตร โดยในตอนแรกมีเฉพาะเด็ก ๆ และเยาวชนมาช่วยกันวาด แต่พอคนในชุมชนเห็น ก็ค่อยๆ ออกมาช่วยกัน ทำให้จากที่ไม่เคยรู้จักกัน ก็เริ่มมีการยิ้มให้กัน พูดคุยกัน ปฏิสัมพันธ์กันดีขึ้น ชุมชนมีความสุขเพิ่มขึ้น เด็ก ๆ เองก็รู้สึกมีพื้นที่ของตัวเอง หันมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น ใช้สื่อโซเชียลน้อยลง"
ภายในงานเทศกาลโคราชยิ้ม 'เดิ่นยิ้ม (จะ) เบ่งบาน 2020' ครั้งนี้ บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ได้รับความสนใจและความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในโคราชอย่างคึกคัก โดยในงานยังได้รับเกียรติจากคุณนิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธรซึ่งเป็นชาวโคราชมาร่วมเสวนาบนเวที โดยชี้ให้เห็นว่าโคราชมีจุดเด่นที่ความหลากหลายของศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งสามารถนำมาสร้างสรรค์กิจกรรมสำหรับคนทุกวัย ถ้าโคราชยกสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาให้ชัดเจน จะเป็นตัวเชื่อมโยงทุกคนให้หันมาสนใจและเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ร่วมกัน ในขณะที่คุณธนาคม วิมลวัตรเวที ประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ก็ได้กล่าวชื่นชมว่า เทศกาลโคราชยิ้มทำให้พ่อแม่ลูกได้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในเขตเมือง ในอนาคตก็อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้นให้มากขึ้นในเขตเมืองโคราช เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พัฒนาโคราชสู่เมืองสร้างสรรค์ในอนาคตต่อไป
- 40 views