เจ็ดปีที่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข สูญเสียอิสรภาพในเรือนจำ ชีวิตหลังกรงขังยังทำให้เขาสูญเสียโอกาสในการมีสุขภาพดี

ย้อนกลับเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2554 สมยศถูกควบคุมตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ในขณะนั้น เขาสวมหมวกในบทบาทหลากหลาย เป็นทั้งนักกิจกรรมรณรงค์สิทธิแรงงาน แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และบรรณาธิการนิตยสารว๊อยซ์ออฟทักษิณ

ศาลฎีกาพิพากษาให้สมยศได้รับโทษรวม 7 ปี ด้วยความผิดในข้อหาตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นในนิตยสาร และข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 138 เขาถูกส่งเข้าเรือนจำตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ถูกควบคุมตัว โดยศาลไม่อนุมัติให้ประกันตัว

เมื่อสมยศพ้นโทษในปี 2561 ร่างกายของเขาอยู่ในสภาพทรุดโทรมหนัก เพราะการใช้ชีวิตอย่างอัตคัดเป็นเวลานานในเรือนจำ

หนึ่งในปัญหาสุขภาพหลักที่เขาพบ คือ สุขภาพฟัน ที่เรียกได้ว่าสมยศต้อง “รื้อฟัน” รักษาทั้งปาก เพราะไม่มีโอกาสพบทันตแพทย์หรือขูดหินปูนขณะที่ถูกคุมขังในเรือนจำ

อีกปัญหาหลักคือโรคที่เกิดจากการขาดโภชนาการ

“คุณภาพของอาหารโดยรวมไม่ดี ในส่วนของข้าว เป็นข้าวปนกรวด ส่วนของเนื้อ เป็นกระดูกสัตว์ ไม่มีเนื้อ คนกินมีแนวโน้มเป็นโรคเกาต์ เพราะกินซ้ำ ๆ ผมเองก็เป็นจนเดินไม่ค่อยได้ ส่วนผัก ไม่สด เป็นสีเหลือง อาจเป็นผักเหลือในตลาด” สมยศเล่า พร้อมเสริมว่าเขาต้องอาศัยครอบครัว ในการช่วยส่งยารักษาโรคเกาต์ให้เขาในเรือนจำ

“ในคุกไม่มีปฏิทิน ไม่มีเวลาบอก นักโทษจำวันจากเมนู ตามฉายาที่ให้กับอาหารในแต่ละวัน อย่าง ‘แกงจืดล้อแม็กซ์’ คือ หัวไชเท้าต้มที่แข็งโป๊ก ‘แกงเขียวหวานซากสัตว์’ คือ แกงที่มีแต่กระดูกสัตว์”

การรับประทานอาหารซ้ำซากและคุณภาพวัตถุดิบด้อย เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องขังมีความเสี่ยงต่อโรคทางโภชนาการ โดยปรากฎเป็นข่าวคึกโครมในต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เมื่อมีรายงานพบผู้ต้องขังชายเสียชีวิตไล่เลี่ยกันถึง 4 รายในเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก โดยมีอาการร่วม คือ แขนขาชาและร่างกายอ่อนแรง

นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังอีก 25 รายที่มีอาการคล้ายคลึงกัน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุทธชินราชและโรงพยาบาลวังทองใน จ.พิษณุโลกในห้วงเวลาเดียวกัน

ผลตรวจทางการแพทย์ในระยะต่อมา พบว่าการเสียชีวิตของผู้ต้องขังทั้ง 4 รายเกิดจากอาการโรคไทรอยด์เป็นพิษ และมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เป็นผลมาจากฮอร์โมนทีเอสเอช (TSH) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมฮอร์โมนต่อมไทรอยด์มีปริมาณต่ำ ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และหัวใจล้มเหลวฉับพลัน

ภายหลังเกิดเหตุ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่ากรณีการเสียชีวิตของผู้ต้องขัง อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยอวัยวะภายในของสัตว์ เช่น เลือด เครื่องใน คอหมู ซึ่งมีการปนเปื้อนของสารไทรอยด์

ผู้ต้องขังไม่สามารถเลือกรับประทานอาหาร ต้องรับประทานอาหารซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานจนส่งผลต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังย้ำว่าการเกิดโรคภายในเรือนจํา ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้มีรายงานการเกิดโรคมาแล้วหลายครั้ง

งบประมาณน้อย คุณภาพอาหารต่ำ

ข้อมูลอุบัติการณ์โรคของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าพบผู้ต้องขังมากกว่า 1,000 ราย ที่มีอาการของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษในระหว่างปี 2559-2563 โดยพบการอุบัติของโรคในภาคเหนือและภาคอีสานมากที่สุด

ในแม่ฮ่องสอน พบผู้ต้องขังมีอาการโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษมากถึง 246 ราย ในระหว่างปี 2559-2558, เชียงใหม่ 145 ราย ในระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2562, เชียงราย 71 ราย ในระหว่างเดือน ธ.ค. 2561-มี.ค. 2562, และพิษณุโลก 106 ราย ในระหว่างเดือน ธ.ค. 2562-ม.ค. 2563

ในภาคอีสาน ศรีสะเกษพบ 188 ราย ในระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2560, ขอนแก่น 112 ราย ในระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2561, ร้อยเอ็ด 92 ราย ในระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 2561, และสกลนคร 91 ราย ในระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. 2562

นอกจากนี้ ยังพบผู้ต้องขังที่มีอาการโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษในเพชรบุรีและมหาสารคาม อย่างไรก็ดี ตัวเลขทางสถิติดังกล่าวมาจากบันทึกข้อมูลที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยเท่านั้น ยังเป็นคำถามว่าในเรือนจำจังหวัดอื่นมีอุบัติการณ์โรคเช่นเดียวกันหรือไม่

แน่นอนว่ากรมราชทัณฑ์ทราบเรื่องอุบัติการณ์ของโรคเป็นอย่างดี โดยมีหนังสือเวียนออกเตือนให้หน่วยงานราชการระมัดระวังเรื่องการตรวจรับคุณภาพอาหารอยู่เป็นครั้งคราว

โดยในเดือน พ.ย. 2560 มีหนังสือเวียนของกรมราชฑัณฑ์ ส่งถึงเรือนจำทั่วประเทศ โดยยกกรณีศึกษาของเรือนจำอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งมีผู้ต้องขัง 7 รายเสียชีวิตจากโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษในระหว่างปี 2557-2558 เกิดจากการรับประทานเนื้อหมูที่ปนเปื้อนต่อมไทรอยด์

นอกจากนี้ ยังพบผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติรวม 176 รายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คิดเป็น “อัตราป่วย 78%” บางรายมีภาวะขาดวิตามินบีและภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

ต่อมาในเดือน พ.ย. 2561 กรมราชทัณฑ์ออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด กำชับให้เฝ้าระวังคุณภาพอาหาร เนื่องจากมีรายงานจากเรือนจำ “อย่างน้อย 3 แห่ง” พบผู้ต้องขังที่อาจป่วยด้วยอาการโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ จากการรับประทานเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะ “ส่วนคอ” ที่เป็นแหล่งสะสมฮอร์โมนต่อมไทรอยด์

เป็นที่พูดกันในหมู่พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมู ว่าเนื้อสัตว์ที่จัดส่งให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพระดับ “เกรดเรือนจำ” คือ เป็นเศษเนื้อ โครงกระดูก หรือเครื่องในเหลือที่มีราคาถูก พ่อค้าแม่ค้าบางรายอาจนำชิ้นส่วนของสัตว์หลายส่วนมาผสมกันจนมีการปนเปื้อนส่วนกระดูกและคอสัตว์

“เรือนจำไทยค่อนข้างแน่น มีผู้ต้องขัง 370,000 คนทั้งประเทศ มากเป็นอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย อันดับ 1 ของอาเซียน ทำให้เราได้งบต่อหัวเฉลี่ยที่ 45 บาท/คน/วัน โดยงบไม่ได้ตายตัวในแต่ละปี” พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ความเห็นกับ Hfocus

“ต้นทุนเรามีน้อย เพราะฉะนั้น คุณภาพอาหารจึงไม่ดี แต่เราก็พยายามเข้มงวดกวดขันในการตรวจรับอาหาร โดยกรมฯ ได้เพิ่มมาตรการความเข้มงวดในการตรวจรับ และยังคาดโทษเจ้าหน้าที่ที่ตรวจรับอาหารที่ไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์”

เนื้อสัตว์ “เกรดเรือนจำ” ค้ากำไรจากนักโทษ?

แม้ว่างบประมาณอาหารที่จำกัดจำเขี่ย คือ สาเหตุหลักของคุณภาพอาหารที่จำกัด โดยเฉพาะเมื่อเรือนจำไทยประสบภาวะ “นักโทษล้นคุก” จนงบประมาณไม่พอจ่าย แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา ก็มีผลต่อคุณภาพอาหารมิใช่น้อย

ในระหว่างปีงบประมาณ 2561-2562 กรมราชทัณฑ์เปลี่ยนวิธีการจัดซื้ออาหารดิบแก่ผู้ต้องขัง จากวิธีจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง มาเป็นการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding: e-bidding) โดยก่อนหน้านั้น วิธีจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงถูกร้องเรียนว่าไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ให้ผู้ค้ารายใหญ่บางราย ทำให้งบประมาณการจัดซื้ออาหารดิบมีราคาสูง

นอกจากนี้ ยังพบกรณีเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจซึ่งทำหน้าที่เป็นนายหน้า หาผู้ประกอบการจัดส่งอาหารดิบให้กับเรือนจำจังหวัดชุมพร และชักค่าหัวคิวจากผู้ประกอบการในอัตราที่สูง จนเป็นเหตุให้เกิดการร้องเรียนถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในปี 2557

เมื่อกรมราชทัณฑ์หันมาใช้ระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ แต่กลับพบว่ามีการกดราคาเสนอของอาหารดิบเพื่อเอาชนะการประมูล จากเดิมที่งบประมาณเฉลี่ยต่อหัวผู้ต้องขังอยู่ที่ประมาณ 40-45 บาท/หัว/วัน ลดเหลือ 25-35 บาท/หัว/วัน

งบประมาณต่ำเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพอาหารดิบ มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะจัดหาวัตถุดิบ “เกรดเรือนจำ” ที่มีคุณภาพต่ำลง และนำไปสู่โอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของคำวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่คือ “การค้าเอากำไรจากนักโทษ” ที่ได้ผลตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อ

เป็นที่สังเกตว่าในระหว่างปีงบประมาณ 2561-2562 มีอุบัติการณ์โรคไทรอยด์เป็นพิษในเรือนจำเกิดขึ้นในหลายจังหวัด

ในปีงบประมาณ 2563 กรมราชทัณฑ์จึงเปลี่ยนวิธีการจัดซื้ออาหารดิบ กลับมาเป็นวิธีจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง หรือ “วิธีการคัดเลือก” โดยกำหนดให้เรือนจำต่าง ๆ จัดซื้ออาหารดิบจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ องค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การตลาด รวมทั้งชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย หรือ สถาบันเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ที่สุด

“องค์กรเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ประกอบการโดยตรง เป็น facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) จัดการ หาตัวแทนผู้ประกอบการมาส่งวัตถุดิบให้เรือนจำ” พ.ต.อ. ณรัชต์ กล่าว

“การทำเช่นนี้ คือการทำให้ผู้ประกอบการมีสังกัด เวลาเราจะตักเตือน ก็ทำได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่พบอาหารไม่มีคุณภาพ เราสามารถส่งหนังสือตักเตือนไปยังองค์กรต่าง ๆ ขอให้ช่วยกำชับผู้ประกอบการในสังกัด หากผู้ประกอบการไม่ทำตาม ก็สามารถยกเลิกสัญญาซื้อขายได้ ทำแบบนี้ดีกว่าไปจ้างตาสีตาสาที่ไม่มีองค์กรกำกับดูแล”

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามว่าการกันมาใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบเดิม จะนำไปสู่การชักค่าหัวคิวและการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการบางราย อย่างที่เคยมีการร้องเรียนในอดีตหรือไม่ ซึ่งย่อมส่งผลให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนและคุณภาพอาหาร เพื่อให้มีเงินเหลือจ่ายค่าหัวคิวและมีกำไรกลับมามากพอ

ลงโทษเพื่อ “ความสะใจ”

คุณภาพอาหารและภาวะโภชนาการ เป็นเพียงหนึ่งในประเด็นย่อยด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง

อดีตผู้ต้องขังอย่างสมยศ มองว่าสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของเรือนจำ ไม่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพวะที่ดีของผู้ต้องขัง ทั้งในทางร่างกายและจิตใจ

“การเข้าถึงแพทย์ในคุกไม่ดีนัก มีหมอน้อยมากในเรือนจำ หมอหนึ่งคนดูแลคนหลายพันคน มีเวลาตรวจแค่ตอน 9 โมงถึงบ่ายโมง มันมีโอกาสที่จะไม่ได้รับการรักษาในวันที่เราป่วย” สมยศเล่า

“ถ้าเป็นสโตรก (โรคเลือดสมอง) ในคุก และถ้ายิ่งเป็นในวันเสาร์อาทิตย์ มีโอกาสที่นักโทษจะสิ้นชีพ เพราะการส่งตัวออกมาโรงพยาบาลมีระเบียบที่หยุมหยิม กว่าจะเบิกกุญแจไขห้องขัง กว่าหมอจะมา กว่าจะผ่านออกไปโรงพยาบาล ผมเห็นหลายคนสิ้นชีวิต มีให้เห็นเรื่อย ๆ ผมเจอจนชิน ทั้งที่ ๆ ถ้านักโทษได้รับยาสลายลิ่มเลือดภายใน 3 ชั่วโมง ก็จะมีโอกาสรอด”

“นักโทษยังเสี่ยงติดวัณโรค เพราะความเป็นอยู่แออัด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด นักโทษต้องนอนสลับฟันปลา เอาขาก่ายกัน มีคนกลุ่มหนึ่งที่จะไม่ได้นอนเพราะที่ไม่พอ ต้องหยิบยื่นผลประโยชน์บางอย่างเพื่อสลับกันนอน”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในเรือนจำ ที่ส่งผลต่อความทรุดโทรมของร่างกายผู้ต้องขัง อีกด้านหนึ่ง ในแง่จิตใจ สมยศให้ความเห็นว่าการฟื้นฟูผู้ต้องขังคือ “ความล้มเหลว” ที่ไม่สามารถทำให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตปกติภายหลังพ้นโทษ

“โปรแกรมที่เขาให้เราทำผิด มันใช้กับสังคมทุกวันนี้ไม่ได้ อย่างให้ทำเฟอรนิเจอร์หวาย ซึ่งเป็นงานโบราณ จริง ๆ ควรฝึกทำอย่างอื่นที่ใช้ประโยชน์ได้จริง อย่างฝึกทำมือถือ

เรื่องงบประมาณ ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีเหลือเฟือ ถ้าจะทำให้ดีก็ทำได้ แต่เรากลับไม่ให้คุณค่าเรื่องนี้ อยากแต่จะหวดนักโทษ สะใจดี อย่างเรือนจำที่ผมอยู่ ทาสีทุกปี บางปีทาสี 2 ครั้ง เพราะต้องเร่งใช้งบค้างท่อ ถ้าเอางบพวกนี้มาทำประโยชน์ เช่น เอามาอัพเกรดการศึกษา ให้มีมหาวิทยาลัยในคุก หรือให้โอกาสนักโทษทำงานสาธารณะมากขึ้น ที่ไม่ใช่แค่การขุดท่อ” สมยศให้ความเห็น

อีกเรื่องสำคัญคือความสัมพันธ์กับครอบครัว ซึ่งสมยศเชื่อว่าเรือนจำต้องให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวมากกว่านี้ เพราะครอบครัวเป็น “ตัวเบรค” การกระทำผิดได้ดี แต่กลับไม่มีบริการเยี่ยมครอบครัวที่เพียงพอ แทนที่จะเปิดโอกาสให้ “สังคมได้คบหา” ผู้ต้องขัง แต่กลับทำให้ผู้ต้องขังโดน “สังคมรังเกียจ” จนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

“เมื่อพ้นโทษออกมา อดีตนักโทษจึงขาดทักษะ มีชีวิตอัตคัต พอออกมาข้างนอกคุก เจอว่าการใช้ชีวิตหนักกว่าในคุก ถ้าดิ้นรนไม่ไหวก็กลับไปอยู่ในคุกอาจจะดีกว่า”

ยังคงเป็นข้อถกเถียงในสากล ว่าการดูแลผู้ต้องขังเพื่อให้กลับมามีชีวิตปกติหลังพ้นโทษ ควรจะยึดหลักแนวคิดใด โดยแนวคิดหนึ่งเชื่อว่าผู้ต้องขังต้องได้รับการลงโทษอย่างสาสม นั่นคือการจำกัดสิทธิและได้รับการปฏิบัติเป็นรองจากพลเมือง เพื่อที่จะได้บทเรียนและไม่กล้าออกมาทำผิดซ้ำ แนวคิดเช่นนี้ใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา

ขณะที่อีกแนวทางซึ่งใช้ในประเทศนอร์เวย์ เชื่อว่าการลงโทษเพื่อปรับพฤติกรรมผู้ต้องขัง คือ การจำกัดเพียงเสรีภาพ แต่ไม่ได้เอาสิทธิทางพลเมืองไปจากบุคคล ผู้ต้องขังสามารถได้รับบริการสาธารณะเหมือนคนปกติ ไม่ว่าจะเป็นเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล และสื่อความรู้ รวมทั้งมีโอกาสได้พบครอบครัวตามปกติ

วิธีการดังกล่าว หรือที่เรียกว่า “นอร์เวย์โมเดล” ทำให้นอร์เวย์มีอัตราผู้ต้องขังทำผิดซ้ำซากน้อยที่สุดในโลก และมีผู้ต้องขังเพียง 4,000 คนทั่วประเทศ

“การลงโทษให้แค่สะใจไม่แก้ปัญหาใด คุกต้องเป็นสถานที่ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้คนมีทักษะในการทำงาน ที่ออกไปแล้วทำมาหากินได้ เข้าถึงสวัสดิการทางสังคม ถ้ามีกระบวนการที่ดี ให้เขามีความหวัง มีหนทาง เราก็จะได้คนดีออกไป ถ้ามีกระบวนการที่เลว ก็ได้คนเลวออกมา” สมยศกล่าว

“เรามักมองจากปลายทาง คือมองที่เหตุอาชญากรรม แต่ไม่ได้มองปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าคนไม่เท่ากัน ถ้าไม่แก้ปัญหายากจน ก็จะมีคนก่ออาชญากรรมรุนแรงต่อไป”