โรงพยาบาลหลายแห่งในจีนเริ่มติดตั้งเครื่องตรวจโลหะหน้าโรงพยาบาล หลังเกิดเหตุที่ ซุน เหวนปิน ญาติผู้ป่วย ใช้มีดปาดคอ หยางเหวิน แพทย์หญิงประจำห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลการบินพลเรือนปักกิ่งจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากญาติคนไข้เห็นว่าหมอไม่สามารถรักษามารดาวัย 95 ปีของตัวเองได้ดีพอ
โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครหนานหนิง ได้ติดตั้งเครื่องตรวจโลหะไว้ที่ประตูหลัก โดยผู้บริหารโรงพยาบาลให้สัมภาษณ์ว่า ต้องการให้ประชาชนที่ใช้โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโรงพยาบาลทุกคนรู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกังวลกับเหตุการณ์อันไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยโรงพยาบาลทั้งหมด 3 แห่ง ทั่วหนานหนิง กำลังติดตั้งเครื่องสแกนโลหะแบบเดียวกัน และในหลายจังหวัดทั่วจีน ก็อยู่ในระหว่างการจัดหาเครื่องสแกนโลหะ ไม่ให้มีการพกมีด หรือปืน เข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อทำร้ายร่างกายแพทย์ - บุคลากรทางการแพทย์อีก
ทั้งนี้ การตั้งเครื่องสแกนโลหะ สะท้อนให้เห็นว่า “ความขัดแย้ง” ระหว่างบุคลากรสาธารณสุข ฝั่งผู้ให้บริการ และญาติคนไข้ - คนไข้ ซึ่งเป็นฝั่งผู้รับบริการ ยังอยู่ในระดับตึงเครียด แม้ทางการจีน จะเร่งออกกฎหมายเพื่อปกป้องการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน มิ.ย. ปีนี้ก็ตาม
ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า มีบุคลากรสาธารณสุขมากกว่า 50 คน ถูกคนไข้และญาติคนไข้ที่ไม่พอใจผลการรักษาทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ส่วนมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในปักกิ่ง ได้เปิดเผยสถิติพบว่า เฉพาะ 10 ปีให้หลังที่ผ่านมา มีบุคลากรทางการแพทย์บาดเจ็บจากการทำร้ายร่างกายของญาติผู้ป่วย - ผู้ป่วย มากกว่า 362 คน และเสียชีวิตมากกว่า 24 คน ซึ่งทำให้จีน มีสถิติการเสียชีวิต - บาดเจ็บ ของบุคลากรทางการแพทย์ จากการทำร้ายร่างกายของผู้ป่วยสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ด้านสมาพันธ์แพทย์แห่งชาติจีน ได้เปิดเผยตัวเลขล่าสุด ระบุว่า 2 ใน 3 ของแพทย์ในจีน เคยมีประสบการณ์ “ขัดแย้ง” กับคนไข้ และ 30% ของแพทย์ทั่วประเทศ เคยถูกทำร้ายร่างกายโดยคนไข้มาแล้ว
ปัจจุบันจีนมีหมอรวมทั่วประเทศมากกว่า 4.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ทำงานเกินชั่วโมงปกติ และได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น สำนักข่าว The Times จากอังกฤษ รายงานด้วยว่า การ “รับสินบน” จากคนไข้ หรือญาติคนไข้ เพื่อ “ลัดคิว” นั้น ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติในจีน นั่นทำให้ญาติผู้ป่วยจำนวนมากที่ “ไม่ได้จ่าย” รู้สึกไม่พอใจกับระบบ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” และก่อเหตุทำร้ายร่างกายบุคลากรสาธารณสุขอยู่บ่อยครั้ง
สัปดาห์ที่ผ่านมา หยาง หัวเม่ย จักษุแพทย์ในปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์วอชิงตันโพสต์ ระบุว่า บุคลากรสาธารณสุขในจีน เหมือนทำงานเป็น “แนวหน้า” ในสมรภูมิรบ และทุกครั้งที่เกิดเหตุทำร้ายแพทย์ – บุคลากรทางการแพทย์ จนเสียชีวิต บุคลากรทุกคนล้วนรู้สึกกระทบกระเทือนทางจิตใจ รวมทั้งรู้ดีเสมอว่า วันหนึ่ง อาจเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับตัวเองได้เช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมา บุคลากรสาธารณสุข 7 ล้านคนทั่วประเทศ ทำหน้าที่ดูแลประชากรจีนมากกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอ รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน พยายามสร้างเซกเตอร์ด้าน “การแพทย์” ให้ “ก้าวกระโดด” เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ไอที หรืออุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งจำนวนบุคลากร และงบประมาณที่ลงมาในระบบ แน่นอนว่าเซกเตอร์ด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข จะไม่ประสบความสำเร็จเร็วนัก
ขณะนี้ หลายโรงพยาบาลในจีน อยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องตรวจโลหะ หรือจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในโรงพยาบาลเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรสาธารณสุข แต่ในอีกด้านหนึ่ง มาตรการดังกล่าว ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร และจะทำให้คิวโรงพยาบาลยาวนานขึ้น รวมถึงอาจทำให้ประชาชน “หงุดหงิด” มากขึ้น หากต้องเสียเวลาผ่านเครื่องสแกน โดยในที่สุดหากคนไข้ หรือญาติคนไข้ จะทำร้ายแพทย์ ก็สามารถทำร้ายด้วยร่างกายด้วยวิธีอื่นได้อยู่ดี
การสำรวจล่าสุดเมื่อต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา บรรดาแพทย์ทั่วประเทศยังคงรู้สึกว่าระบบรักษาความปลอดภัยที่มีอยู่ไม่เพียงพอ มีเพียง 29% เท่านั้น ที่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลความปลอดภัยของบุคลากรได้
ความหวังล่าสุดอยู่ที่กฎหมาย “คุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์” ซึ่งถูกเรียกอีกชื่อว่า “กฎหมายหยางเหวิน” เพื่อเป็นเกียรติให้กับ หยาง ซึ่งถูกแทงเสียชีวิตเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ขณะนี้ อยู่ในระหว่างขั้นตอนการร่างกฎหมาย เพื่อให้สามารถประกาศใช้ได้ทันในเดือน มิ.ย. โดยเนื้อหาที่ถูกเปิดเผยออกมาล่าสุด ชัดเจนว่าจะกำหนดให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาล เป็น “สถานที่สาธารณะ” ซึ่งนักกฎหมายหลายคนเห็นว่าเป็น “ก้าวกระโดด” ที่สำคัญ เพราะในกฎหมายอาญาจีนนั้น หากก่อให้เกิดความไม่สงบในสถานที่สาธารณะ อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี
อย่างไรก็ตาม หลี่ ฮุยจิน ทนายความจากปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Sixth Tone ระบุว่า คำพิพากษาในคดีที่ญาติผู้ป่วยทำร้ายร่างกายพยาบาลด้วย “ร่ม” เมื่อปี 2557 ในนานจิงนั้น เคยระบุชัดอยู่แล้วว่าโรงพยาบาลถือเป็นสถานที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ในคดีดังกล่าว ทั้งผู้พากษา ทั้งอัยการ ก็เลือกที่จะไม่พิจารณาโทษขั้นสูงสุดให้กับผู้ก่อเหตุ โดยศาลระบุว่าเป็นคดีลหุโทษ มีการจับกุม – คุมขังเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ก็ปล่อยตัวผู้ก่อเหตุ
ขณะเดียวกัน บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ ก็ระบุว่ากฎหมายคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ในจีนที่จะประกาศใช้ในอีก 5 เดือนข้างหน้านั้น “อ่อน” เกินไป แม้จะกำหนดให้การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย บุคลากรทางการแพทย์เป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย” แต่ก็ผิดกฎหมายในแง่ของการละเมิดข้อบังคับเกี่ยวกับ “ความปลอดภัยสาธารณะ” มากกว่าจะเป็นการกระทำผิดทางอาญา ซึ่งทำให้ผู้กระทำผิด มีโอกาสได้รับโทษ “ปรับ” หรือ “ตักเตือน” มากกว่าที่จะได้รับโทษจำคุก โดยโทษปรับ อยู่ที่ราว 500 หยวน (ประมาณ 2,100) บาท ท่านั้น
หม่า กวงหยวน สมาชิกสภาผู้แทนประชาชนจีน ยืนยันว่า กฎหมาย “หยางเหวิน” ยังสามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้แพทย์ - บุคลากรทางการแพทย์ พอใจสูงสุดได้ โดยพร้อมรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ สามารถทำหน้าที่ ในการคุ้มครองบุคลากร และรักษาระบบสุขภาพจีน ให้สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้อย่างดีที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จีนเร่งออกกฎหมาย “คุ้มครอง” บุคลากรทางการแพทย์ หลังลูกชายคนไข้ “ฆ่าหมอ”
แปลและเรียบเรียงโดย สุภชาติ เล็บนาค จาก
Chinese hospitals scan patients for weapons [www.thetimes.co.uk]
After Another Hospital Killing, China’s Doctors Want More Protection [www.sixthtone.com]
- 284 views