“บางกอกน้อยโมเดล” รพ.ศิริราชประสบความสำเร็จ รุกเข้าถึงชุมชนเพิ่มคุณภาพชีวิตชาวบางกอกน้อย สร้างระบบฐานข้อมูลสุขภาพเชิงรุก สามารถต่อยอดเป็นโครงการวิจัยที่เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวบางกอกน้อย เป็นต้นแบบการดูแลสุขภาพประชาชนในเขตเมืองผ่านระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีการเชื่อมต่อระหว่างสถาบันทางการแพทย์กับประชาชนเป็นรายบุคคลเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วันที่ 9 ม.ค. 63 เวลา 09.30 น. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “บางกอกน้อยโมเดล: ศิริราชประสบความสำเร็จ รุกเข้าถึงชุมชนเพิ่มคุณภาพชีวิตชาวบางกอกน้อย” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าวร่วมด้วย รองศาสตราจารย์จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 7 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายแพทย์ศรัทธา ริยาพันธ์ หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครกู้ชีพผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ชุมชนเขตบางกอกน้อย พร้อมด้วยผู้แทนมอเตอร์ไซค์วิน ผู้แทนผู้สูงอายุในเขตบางกอกน้อย และผู้แทนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ก่อให้เกิดความสำเร็จในการสร้างระบบฐานข้อมูลสุขภาพเชิงรุก สามารถต่อยอดเป็นโครงการวิจัยที่เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวบางกอกน้อย ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (SiMR) ชั้น 12 โรงพยาบาลศิริราช
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การดำเนินโครงการบางกอกน้อยโมเดล เริ่มต้นด้วยการสำรวจข้อมูลสุขภาพ
ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ ที่ช่วยเพิ่มความสบายใจในการตอบคำถามที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนได้ ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากขึ้น แต่บางส่วนมีอาสาสมัครเข้าไปเก็บข้อมูลโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ข้อมูลที่มีขณะนี้จำนวน 28,000 ข้อมูล ถือเป็นจำนวนข้อมูลสุขภาพที่มากที่สุดเท่าที่เคยมี เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ และครบถ้วนครอบคลุมทั้ง 5 มิติ ที่สำคัญคือ โครงการฯ มีระบบคุ้มครองและรักษาข้อมูลตามมาตรฐานสูงสุด ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติเพื่อสิทธิคนไข้ และได้นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ พบว่า กลุ่มที่โครงการฯ ได้รับข้อมูลมามากที่สุด คือกลุ่มผู้สูงอายุ ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนกว่า 3,000 คนพบ 5 โรคอันดับแรก คือ ความดันโลหิต ภูมิแพ้ เบาหวาน คอเลสเตอรอล กระดูกและข้อ และนำมาวางแผนการดูแล หาแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพและความเสี่ยงอื่น ๆ แก่ประชากรในชุมชนบางกอกน้อย เกิดเป็นโครงการต่าง ๆ ในความรับผิดชอบของภาควิชาและหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เช่น
โครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครกู้ชีพผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหัน ชุมชนเขตบางกอกน้อย โครงการ “Basic CPR for High School Teenager” โครงการวิจัยการเพิ่มสมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุที่มีภาวะก่อนเปราะบางโดยใช้โปรแกรมเสริมสร้างสุขภาพผ่านระบบการแพทย์ทางไกลในชุมชนเมือง โครงการวิจัย CSR with CBR (Community – Based Rehabilitation โครงการสร้างเสริมสภาพแวดล้อม เพื่อความปลอดภัยให้กับผู้สูงวัย และโครงการ ก้าวมั่นใจ สูงวัยมั่นคง บางกอกน้อย Challenge อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจาก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพ
ข้อมูลสุขภาพเหล่านี้ยังนำมาวิเคราะห์ เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในมิติอื่น ๆ นอกเหนือจากมิติสุขภาพ โดยวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมสำรวจเพิ่มเติมในด้านการทำตลาดร้อยปีของชุมชนบ้านบุ เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้งมีการวางแผนส่งข้อมูลให้สถานีตำรวจเพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัย และอีกโครงการที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มโครงการ คือ โครงการพัฒนาแม่น้ำคูคลองในเขตบางกอกน้อย การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ด้วยข้อมูลจากประชาชนจุดประกายให้เกิดความร่วมมือในพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้คนบางกอกน้อยมีสุขภาวะที่ดีครบทุกมิติ
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการบางกอกน้อยโมเดล เป็นการสร้างต้นแบบการดูแลสุขภาพประชาชนในเขตเมืองผ่านระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีการเชื่อมต่อระหว่างสถาบันทางการแพทย์กับประชาชนเป็นรายบุคคลเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเกิดการประสานงานกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนเพื่อผลักดันให้ชุมชนมีส่วนร่วม สร้างเข้มแข็งของชุมชนในการดูแลสุขภาพของตนเองและช่วยกันดูแลสุขภาพกันเอง รวมถึงข้อมูลสุขภาพที่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงพื้นที่ที่อยู่ในรูปแบบเดียวกันสามารถนำไปใช้ สร้างโครงการเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงจุดต่อไป
รองศาสตราจารย์จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 7 สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ของเมืองมีแนวโน้มสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา อาชญากรรม การขนส่งและที่อยู่อาศัย ในศตวรรษที่ 21 ประชากรโลกจะอยู่อาศัยในเมืองถึง 3 ใน 4 ในปี พ.ศ. 2573 การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเมืองจึงเป็น สัดส่วนการเติบโตของประชากรโลกอาจกล่าวได้ว่าสิ่งแวดล้อมของเมืองมีอิทธิพลต่อสุขภาพและวิถีความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหาร คุณภาพ อากาศ คุณภาพน้ำดื่ม สถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย การอยู่ร่วม กันของครอบครัว สถานบริการทางสุขภาพ รวมทั้งอันตราย ต่างๆ ในยุคของความทันสมัย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพของ ความเป็นเมืองจะเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดภาวะคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยในเขตเมือง 92% คือคุณภาพอากาศไม่ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ส่งผลให้ตายก่อนวัยอันควรปีละ 3 ล้านคน การเติบโตของเมืองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วย วิสัยทัศน์ของ สสส.ระบุว่า ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะ ดังนั้นนโยบายสำคัญของ สสส.เพื่อให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ คือ จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคล พลังองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถ ในการสร้างสรรค์สังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม ฉะนั้น “โครงการบางกอกน้อยโมเดล” เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนการสานพลังระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนให้ร่วมกันสร้างระบบสุขภาพของชุมชนบางกอกน้อยที่สามารถดูแลคุณภาพชีวิตและสร้างสุขภาพประชาชนได้ครอบคลุมมิติด้านสุขภาพ สังคม ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการระบบสุขภาพเชิงรุกโดยการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรของโรงพยาบาลศิริราชและชุมชนบางกอกน้อย
ปัจจัยความสำเร็จของบางกอกน้อยโมเดล คือ “ระบบฐานข้อมูล” เป็นเครื่องมือที่แสดงข้อมูลสุขภาพประชาชนกับปัจจัยกำหนดสุขภาพและรูปแบบกิจกรรมประเภทต่างๆ ในการดำรงชีวิตของชุมชนเขตบางกอกน้อย สามารถนำข้อมูลไปประมวล สังเคราะห์ และนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนานโยบายและกิจกรรมหรือโครงการจากภาควิชาและหน่วยงานต่างๆ ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจริงให้กับชุมชนและเอื้ออำนวยให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งสามารถต่อยอดไปยังชุมชนเขตเมืองที่ต่างๆ ประเทศไทยได้
- 237 views