ในฐานะคนที่อายุครบสามทศวรรษไม่นาน ตั้งแต่จำความได้ เทศกาลปีใหม่นอกจากภาพของการเฉลิมฉลองกันของคนไทยทั่วประเทศแล้ว อีกภาพหนึ่งที่ถูกโยงเข้ามาโดยอัตโนมัติคือคำว่า เจ็ดวันอันตราย หรือ วันที่อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วประเทศสูงที่สุดในรอบปี ภาพของคนที่กำลังฉลองด้วยความสุขถูกตัดด้วยภาพของความสูญเสียเศร้าโศกของพ่อแม่ ญาติมิตร

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ท้องถนนประเทศไทยเป็นถนนที่อันตรายที่สุดในโลกแห่งหนึ่งในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่คือ พฤติกรรมการดื่มแล้วขับ ของคนไทย

ดื่มแล้วขับ หรือเมาแล้วขับเป็นพฤติกรรม เมื่อเป็นพฤติกรรมย่อมมีสาเหตุและวงจรของพฤติกรรม

และการแก้ไขไปยังสาเหตุและวงจรของ เมาแล้วขับ ก็ควรเป็นวาระของคนไทยทั้งชาติ เพราะถนนหนทางถือเป็นสาธารณะสมบัติของชาติ การเดินทางอย่างปลอดภัยควรเป็นสิ่งที่คนไทยทุกชีวิตได้รับเป็นพื้นฐานโดยเท่ากัน ดังนั้นหากใครก็ตามที่ทำพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อคนส่วนรวมก็ถือว่าได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น การเมาแล้วขับไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นความตั้งใจเพราะผู้ดื่มรู้ว่าจะต้องเดินทางไปและกลับจากการดื่มอย่างหนัก ดังนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุจราจรจากเมาแล้วขับ ก็สมควรนับเป็นเหตุจงใจเช่นกัน ความแตกต่างของอุบัติเหตุกับความตั้งใจทำคือ โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น อุบัติเหตุควรเป็นเหตุไม่คาดฝันที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดต่ำมาก ๆ แต่การเมาแล้วขับในไทยก้าวพ้นจุดนั้นไปแล้ว ดังนั้นเมื่อมันเป็นเหตุที่ตั้งใจทำ เราจึงต้องค้นหาวงจรของปัญหาและตัดวงจรของพฤติกรรมเมาแล้วขับ

วงจรของพฤติกรรมนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ผู้ผลิตสุรา ผู้ค้ารายใหญ่ ผู้ค้ารายย่อย ผู้บริโภค การขับขี่ยานพาหนะ และ ถนนที่ใช้สัญจร

สังคมไทยเคยพูดถึงการตัดวงจรปัญหานี้หลายวิธี เช่น การตั้งจุดตรวจแอลกอฮอล์ที่เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุบนท้องถนนแล้ว หรือ การจำกัดการโฆษณาซึ่งเป็นการจัดการตั้งแต่ขั้นของผู้ผลิต แต่กระนั้นก็ดีมีส่วนหนึ่งของวงจรที่ถูกปล่อยปละละเลยมานาน และได้กลายเป็นส่วนสำคัญของปัญหาเมาแล้วขับในปัจจุบัน นั้นคือ การควบคุมผู้ค้ารายย่อย ทั้ง ๆ ที่เรามีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา29 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลดังต่อไปนี้ (1) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ (2) บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้”

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาได้อ่านรายงานข่าวที่น่าตกใจ ว่าเพียงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 น่าจะนับเป็นวันแรกของเทศกาลเจ็ดวันอันตราย ศาลได้รับคดีดื่มสุราแล้วขับรถถึง 1,369 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่อายุไม่ถึง 18 ปีถูกดำเนินคดีดื่มแล้วขับ 9 คน และต้องขอขอบคุณและแสดงความชื่ชมกับคุณตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งในบางพื้นที่ โดยตามไปจนถึงต้นตอคือร้านค้าปลีก หรือ ผับ บาร์ และจับ/ปรับผู้ขายด้วย

แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ประเทศไทยควรมีกฎหมายที่เด็ดขาดรุนแรงกับพ่อค้าที่เห็นแก่ตัวเหล่านี้ เพราะนี่เป็นการสร้างอันตรายต่อสังคม ความผิดที่ก่อไม่ควรนับเป็นลหุโทษ เพราะฝ่าฝืนหลายอย่างในกรรมเดียว ตั้งแต่ขายเครื่องดื่มมึนเมาให้คนที่รู้ทั้งรู้ว่าต้องขับขี่ยานพาหนะกลับบ้าน หนำซ้ำยังขายให้เด็กและเยาวชนอีกด้วย ความผิดเช่นนี้ถ้าเกิดในต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น หรือ บางรัฐในสหรัฐอเมริกา คนขายหรือบาร์เทนเดอร์จะถูกดำเนินคดี เพิกถอนใบอนุญาตทำงาน ส่วนเจ้าของร้านจะต้องถูกสั่งปิดร้าน ให้เข็ดหลาบและไม่ทำธุรกิจเห็นแก่ตัวเช่นนี้อีก

นอกจากนี้ ถ้ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นกับลูกค้า เช่น ขับรถออกไปชนคน หรือไปทำร้ายร่างกายคนอื่น คนขายก็อาจจะได้รับโทษทางอาญาด้วย กฎหมายประเภทนี้เรียกว่า กฎหมายร่วมรับผิดชอบของร้านค้า (Dram shop liabilityหรือ Commercial host liability) ซึ่งถือว่าผู้ขายและเจ้าของร้านอาจต้องร่วมรับผิดต่อผู้เสียหายในฐานะที่พอจะประเมินได้ว่า การขายเพิ่มให้ลูกค้าผู้มึนเมา และรู้ว่าเขาต้องขับรถกลับบ้าน อาจเกิดอันตรายแก่ตัวเขาและผู้อื่น ย่อมเป็นความเลินเล่อเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ก็เพื่อต้องการปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสาธารณชนเพื่อให้ผู้เสียหายจากคนเมาได้รับค่าชดเชยและเพื่อลงโทษผู้ขายที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

บ้านเมืองอื่น เขารู้ว่าแอลกอฮอล์เป็นสิ่งอันตราย เลยสร้างคอกที่แข็งแรงไว้ตั้งแต่แรก ป้องกันไม่ให้วัวหาย ส่วนบ้านเราถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะสร้างคอก ตอนนี้วัวหายจะหมดคอกแล้วครับ

ผู้เขียน : นายแพทย์ ดร. มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา