ขึ้นปีใหม่ทั้งที เชื่อว่าหลายคนคงใช้โอกาสนี้เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดยาวด้วยแล้ว ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะได้ลุกขึ้นมาการจัดบ้าน เคลียร์ข้าวของ ทำความสะอาดห้องหับกันครั้งใหญ่สักที
รับกับกระแสภาพยนตร์ไทยเรื่องดัง ที่ช่วยจุดประกายให้เราลุกขึ้นมา “ทิ้ง” สัมภาระที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต เพื่อให้เราเริ่มต้นปี 2563 ได้อย่างโปร่งสบาย ไม่พะรุงพะรังเหมือนที่แล้ว ๆ มา
น้อยคนจะรู้ว่า การกองสุมสิ่งต่าง ๆ ไว้ในที่พักอาศัย เป็นต้นทางของปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต หนำซ้ำยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดกลุ่มโรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick Building Syndrome (SBS) ที่เป็นผลมาจากความปิดทึบ อากาศไม่ถ่ายเท ฝุ่นละอองและเชื้อราที่สะสมไว้จำนวนมาก
ผศ.ดร.พิมลมาศ วรรณคนาพล
ผศ.ดร.พิมลมาศ วรรณคนาพล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อธิบายว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดกลุ่มโรคตึกเป็นพิษคืออากาศที่ระบายไม่ดี โดยเฉพาะในห้องแอร์ที่ไม่มีการเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทจากภายนอก เมื่ออากาศไม่หมุนเวียน บรรดาฝุ่นละออง สารเคมี หรือเชื้อราที่เกิดขึ้นก็จะสะสมตัว และก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่อยู่ภายใน
“ตามบ้านพักอาศัยอาจมีการใช้พวกสารเคมีทำความสะอาด สเปรย์ต่าง ๆ หรือถ้าในอาคารสำนักงาน ก็จะมีละอองจากพวกหมึกพิมพ์ปรินเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เมื่อมารวมกับการระบายอากาศที่ไม่ดี ก็ยังยิ่งทำให้คนป่วยด้วยกลุ่มโรคตึกเป็นพิษ” อาจารย์รายนี้ให้ภาพ
เช่นเดียวกับบรรดาข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ พรม หมอน ผ้าม่าน ตุ๊กตา ฯลฯ ที่นับเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรค รวมถึงเทรนด์การปลูก “ต้นไม้” ไว้ในห้อง ซึ่งแม้ว่าจะทำให้รู้สึกร่มรื่น แต่ก็มาพร้อมกับความชื้นที่ทำให้เกิดเชื้อราสะสมได้ ยังไม่นับโรคพืชหรือแมลงที่จะเข้ามาอยู่ในห้องอีก
ฉะนั้น หลักการสำหรับจัดที่อยู่อาศัยให้ดีก็คือ “น้อย” และ “เรียบง่าย”
ผศ.ดร.พิมลมาศ กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ใน “คอนโดมิเนียม” จะเผชิญกับปัญหา Sick Building Syndrome ได้มากกว่าผู้ที่อยู่บ้าน ดังนั้นควรติด “พัดลมดูดอากาศ” ในห้อง และ “เครื่องดูดควัน” ในครัว พร้อมกับทำความสะอาดที่พักอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับการจัดบ้านรับปีใหม่ที่ ผศ.ดร.พิมลมาศ ให้ข้อแนะนำ ประกอบด้วย 1. ลดแหล่งเก็บกักฝุ่นภายในห้องให้น้อยที่สุด อะไรทิ้งได้ให้ทิ้งไป 2. หมั่นทำความสะอาดห้องสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง 3. ล้างแอร์ทุก ๆ 6 เดือน 4. หากห้องใดอยู่แล้วรู้สึกไม่ดีขึ้น ควรเพิ่มตัวระบายอากาศ
“เริ่มจากง่ายที่สุดคือการทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็นออกให้หมด แต่คนมักคิดว่ามีเครื่องฟอกอากาศแล้วทุกอย่างจะจบ จริง ๆ มันไม่จบ เพราะต่อให้คุณมีเป็นสิบเครื่อง ถ้าห้องไม่เคยทำความสะอาด ไม่มีการระบาย สุดท้ายก็จะป่วย” ผศ.ดร.พิมลมาศ ทิ้งท้าย
สอดคล้องกับ ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มธ. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่ให้ข้อมูลเสริมว่า ราว 1 ใน 3 ของคนเมือง มีโอกาสเผชิญกับกลุ่มโรคตึกเป็นพิษ
สำหรับกลุ่มโรคนี้ จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง และหากเกิดกับผู้ที่มีอาการเดิม เช่น ภูมิแพ้ หรือหอบหืด ก็จะยิ่งเร้าให้ป่วยรุนแรงขึ้น เลวร้ายที่สุดอาจพัฒนาไปสู่การเป็นมะเร็งปอดได้
ศ.พญ.อรพรรณ บอกว่า ห้องที่ควรมีการปรับมากที่สุดคือห้องนอน เพราะเป็นห้องที่เราใช้เวลามากที่สุดในบ้าน ควรทำให้โล่ง ลดแหล่งสะสมสารก่อภูมิแพ้ให้มากที่สุด เช่น พรม หรือตุ๊กตา หมั่นทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ต่าง ๆ
“เราควรมีมาตรการในการตรวจสอบคุณภาพอาคารเป็นระยะ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในแง่วิศวกรรม แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศด้วย ขณะที่ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคารก็ต้องหมั่นให้ความสนใจและสังเกตอาการของตัวเองด้วย” ศ.พญ.อรพรรณ ระบุ
เช่นนี้แล้ว เราก็ควรเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการ “ทิ้ง” เพื่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของทุก ๆ คน
- 31 views