1 มกราคม 2563 ดีเดย์ทั่วไทยบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองสุขภาพของคนไทย
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 กำหนดให้เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ เป็นเครื่องสำอาง ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย ขณะนี้ได้ลงประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เนื่องจากพลาสติกไมโครบีดส์เป็นพลาสติกขนาดเล็กมากและสลายตัวได้ยากในธรรมชาติ เมื่อถูกชะล้างลงไปตามท่อระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสียจะไม่สามารถกรองพลาสติกไมโครบีดส์เหล่านี้ออกไปได้ ทำให้เกิดการสะสมในสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางน้ำ และอาจปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร โดยสะสมอยู่ในสัตว์น้ำที่ได้รับพลาสติกไมโครบีดส์ เช่น ปลา หอย และสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่รับประทานสัตว์น้ำเหล่านั้นได้
เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า การห้ามนำพลาสติกไมโครบีดส์มาใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง เป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ที่ให้เลิกใช้พลาสติกไมโครบีดส์ในประเทศไทยภายในปี 2562 ตามโรดแมป (Roadmap) การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 โดยพลาสติกไมโครบีดส์ที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอางมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ทำความสะอาด ขัดผิว แล้วล้างออก เช่น โฟมล้างหน้า สบู่ ผลิตภัณฑ์ขัดผิวกาย ซึ่งเมื่อล้างออกจากร่างกายพลาสติกไมโครบีดส์จะถูกชะล้างลงไปตามท่อระบายน้ำ และก่อให้เกิดปัญหา ทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภคตามที่กล่าวข้างต้น
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การกำกับดูแลพลาสติกไมโครบีดส์ในเครื่องสำอางเป็นไปตามสากล และเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมรวมถึงคุ้มครองสุขภาพของคนไทย ขณะนี้ผู้ประกอบการรับทราบและพร้อมให้ความร่วมมือในการเลิกใช้พลาสติกไมโครบีดส์ ในผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการรายเก่า จะผ่อนผันให้ขายได้จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2563 ซึ่งส่วนใหญ่ ได้เรียกคืนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีพลาสติกไมโครบีดส์เป็นส่วนประกอบออกจากท้องตลาดแล้ว หากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใดมีความจำเป็นต้องใช้ไมโครบีดส์อาจใช้ไมโครบีดส์จากธรรมชาติเป็นการทดแทนได้ ทั้งนี้ อย. ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค โดยสามารถผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ อย. เช่น เฟซบุ๊ก FDA Thai เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th เว็บไซต์ www.oryor.com และ Line@Fdathai
- 189 views