จิตแพทย์ย้ำเคสผู้กระทำผิด หากป่วยจิตเวช ไม่มีผลเกี่ยวกับโทษ เพราะตามกระบวนการเมื่อรักษาหายก็ต้องรับโทษตามความเป็นจริง
นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึงกรณีฆาตกรต่อเนื่องว่า “การที่คนคนหนึ่งจะกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ที่สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวแตกแยก มีการใช้ความรุนแรงจนเป็นปมในใจตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด สำหรับ กรณีของนายสมคิด พุ่มพวงนั้น ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า มีอาการป่วยหรือไม่ ดังนั้นเมื่อจับตัวได้แล้วควรมีการส่งตรวจอาการทางจิตเวชว่าป่วยจริงหรือไม่ ซึ่งต้องย้ำว่า แม้ผู้ต้องหาป่วยก็ไม่ได้มีผลต่อโทษที่จะได้รับ เนื่องจากหากป่วยทางจิตเวชจริง ก็ต้องเข้ากระบวนการรักษาจากนั้นจึงเข้าสู่โทษที่จะได้รับอยู่ดี
นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุของคนที่จะทำความรุนแรงจนกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงฆาตกรรมบุคคล 2 คนขึ้นไปนั้น การจะทำได้หากพิจารณาตามทฤษฎีทางวิชาการ คือ 1. เป็นกลุ่มผู้ป่วย ที่มีการวินิจฉัยแล้วว่า มีอาการทางจิตเวช ซึ่งเขาอาจไม่รู้ตัว หูแว่ว ทำให้มีพฤติกรรมรุนแรง
2.กลุ่มไซโคพาธ (Psychopaths) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ไม่ใช่กลุ่มโรคจิตเวช แต่เป็นเรื่องบุคลิกภาพ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อมีการรีวิวประวัติย้อนหลัง จะพบว่า มีประวัติครอบครัวแตกแยก ถูกเลี้ยงโดยคนอื่น และตอนเด็ก ๆ มีประวัติถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งบางกรณีอาจเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้สูญเสียความมั่นใจ และเมื่อโตขึ้นก็จะเริ่มกระทำความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ขโมยของ ทำร้ายสัตว์ จนกระทั่งทำร้ายคน และต่อมาก็นำไปสู่การฆ่าคน หรือการเป็นฆาตกรต่อเนื่อง
“ตามทฤษฎีหากได้รับความรักในวัยเด็กไม่เพียงพอก็อาจเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าครอบครัวแตกแยกทุกคนจะต้องเป็นแบบนี้ สิ่งสำคัญคือ การเลี้ยงดูในวัยเด็ก ไม่จำเป็นต้องพ่อแม่ แต่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว ก็ได้ทั้งหมด อยู่ที่ว่าเราให้ความรักมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญต้องป้องกันก่อน เพราะหากบุคคลนั้น ๆ มีพฤติกรรมเข้าข่ายไซโคพาธแล้ว ยิ่งหากอายุ 18 ปีขึ้นไปแล้วก็จะกลายเป็นตัวตนของเขา ซึ่งก็จะยากที่จะแก้ไข แต่ก็พอควบคุมได้ด้วยการเข้ากลุ่มบำบัดพฤติกรรม แต่ป้องกันก่อนจะดีที่สุด” นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าว
- 866 views