ชมรมเภสัชกร รพ.ชุมชน ชู รพ.รามัน ต้นแบบ “โครงการขั้นตอนการรับยาขณะนอนในโรงพยาบาล” ฝึกผู้ป่วยหลังกลับบ้านหยิบยากินเองตามแพทย์สั่งอย่างถูกต้อง ช่วยแก้ปัญหาไม่มีผู้ดูแล ส่งผลต่อการรักษาที่ดี แถมลดปัญหาสูญเสียยา ใช้ยาไม่เหมาะสม ได้รับ “รางวัลมาตรฐานความปลอดภัยด้านยาฯ ระดับภาคใต้” เตรียมผลักดันขยายผลต่อไปต่อไป
ภก.ปิยเชษฐ์ จตุเทน ประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุข (ภรพช.) กล่าวว่า จากแนวคิดที่ว่า “ยาดีแค่ไหน แพทย์วินิจฉัยอาการและสั่งจ่ายยาถูกต้อง แต่หากผู้ป่วยกินยาไม่ถูกต้อง อาการป่วยก็ไม่หายอยู่ดี” เภสัชกรจึงมีบทบาทเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกินยาได้อย่างถูกต้องและที่ผ่านมา ภรพช.ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื่องจากเป็นผู้ป่วยที่ต้องกินยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ความถูกต้องในการกินยาจึงส่งผลต่อการควบคุมอาการ
ประกอบกับโรคเรื้อรังไม่ติดต่อนี้ยังเป็นภัยคุกคามต่องานสาธารณสุข ทำให้แต่ละโรงพยาบาลมีผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวนมาก เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาจึงได้เสนอให้เป็นหนึ่งตัวชี้วัดสำหรับกลุ่มงานเภสัชกรรมที่จะจัดเก็บคือ ร้อยละผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ทานยาถูกต้อง เพื่อให้โรงพยาบาลดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเภสัชกรจะใช้เวลาในการค้นหาปัญหา ให้คำแนะนำและสอบทานการกินยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยกินยาได้อย่างถูกต้อง และหากพบว่าผู้ป่วยกินยาไม่ถูกต้องก็จะมีการหาสาเหตุเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
และเพิ่มการบันทึกข้อมูลการวินิจฉัยทางเภสัชกรรม (ICDP=International Classification of Diseases and Related Health Problem for pharmacist ) นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยรายบุคคลได้อาทิ การเพิ่มขนาดและความชัดเจนในฉลากยา การใช้สัญลักษณ์แทนตัวหนังสือกรณีที่ผู้ป่วยอ่านหนังสือไม่ออก การประสานให้ชุมชนช่วยติดตามกรณีที่ผู้ป่วยอยู่คนเดียวและไม่มีผู้ดูแลสุขภาพ (care giver) ดูแล เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้ งานบริการเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก กำลังได้มีการเริ่มทดลองระบบ อยู่ใน รพ.ต่าง ๆ หลายพื้นที่ประมาณ 20 กว่าแห่ง ทั่วประเทศ
ภก.ปิยเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยในที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านไปแล้วสามารถกินยาเองได้อย่างถูกต้องตามที่แพทย์สั่งจ่าย ที่ผ่านมาได้มีต้นแบบของการบริหารจัดการยาแบบผู้ป่วยมีส่วนร่วมขึ้น โดยโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา ได้ดำเนิน “โครงการขั้นตอนการรับยาขณะนอนในโรงพยาบาล” จากที่แต่เดิมผู้ป่วยในที่นอนในโรงพยาบาล เภสัชกรจะเป็นผู้จัดยาเป็นมื้อ สำหรับผู้ป่วยแต่ละคน เมื่อถึงเวลากินยาพยาบาลก็จะแจกถ้วยยา และแจกให้ผู้ป่วยกินตามเวลา แต่โครงการนี้จะให้ผู้ป่วยหยิบยาเอง โดยฟังเสียงกริ่งเตือนและเสียงประกาศจากพยาบาลในหอผู้ป่วย โดยก่อนผู้ป่วยจะกินยานั้น พยาบาลจะเป็นผู้ตรวจสอบก่อนให้แน่ใจว่าผู้ป่วยหยิบยาได้ถูกต้องตามที่แพทย์สั่งจ่ายหรือไม่ ทั้งรายการยาที่กินตามเวลาและจำนวนเม็ดยา เป็น ซึ่งการฝึกผู้ป่วยให้หยิบยาเองในช่วงที่นอนในโรงพยาบาล เมื่อกลับบ้านไปแล้ว แม้ว่าผู้ป่วยจะอยู่คนเดียวก็ทำให้สามารถหยิบยาและกินยาได้อย่างถูกต้องได้ เรียกว่าเป็นการเพิ่มคุณภาพการกินยาของผู้ป่วย
“เท่าที่ทราบโรงพยาบาลรามันเป็นโมเดลแรกที่ดำเนินโครงการนี้ โดยมีความร่วมมือจากสหวิชาชีพเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประสบผลสำเร็จ มีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ยึดติดกับการจ่ายยาผู้ป่วยในรูปแบบเดิม ๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา นอกจากทำให้ผู้ป่วยกินยาได้อย่างถูกต้อง ส่งผลต่อการรักษาที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดภาระการทำงานของผู้ดูแลสุขภาพ ทั้งในพื้นที่หลายจุดเป็นพื้นที่เสี่ยงทำให้ยากต่อการเข้าถึง ขณะเดียวกันยังเป็นการลดปัญหาการสูญเสียยา ยาเหลือทิ้งได้ ซึ่งจากการดำเนินโครงการในช่วง 1 ปี โรงพยาบาลรามันสามารถลดความสูญเสียด้านยาเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท” ประธาน ภรพช. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามรูปแบบรูปแบบการบริหารจัดการด้านยาแบบผู้ป่วยมีส่วนร่วมนี้ ใช้เฉพาะกับผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือและดูแลตนเองได้เท่านั้น
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ยาถูกต้องมากขึ้น น่าจะนำไปสู่การควบคุมโรคได้ดีขึ้น เมื่อควบคุมได้ดีขึ้นแล้ว จะสามารถลดภาระงาน ทั้งจำนวนครั้งที่ผู้ป่วยจะเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล ลดความสูญเสียด้านยาที่จะเกิดขึ้นจากยาเหลือ ไม่ได้ใช้ ผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารยาได้ดีขึ้น เพราะไม่มีแพทย์ หรือใครคนใดจะดูแลผู้ป่วยได้ดีเท่ากับที่เขาต้องดูแลตนเอง ความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารยาที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ความรู้ติดตัวเขาไปอย่างยั่งยืนได้
ภก.ปิยเชษฐ์ กล่าวว่า จากโครงการนี้ทำให้โรงพยาบาลรามันไม่เพียงได้รับมอบรางวัลมาตรฐานความปลอดภัยด้านยาเป็นแบบอย่างที่ดีระดับภาคใต้แล้ว ได้รับทราบว่ายังเป็นโครงการได้รับเลือกให้ไปนำเสนอในเวทีองค์การอนามัยโลกด้วย ภาพรวมนับได้ว่าเป็นโครงการที่ดีและน่าจะมีการขยายผลออกไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่มีความพร้อม หรือปรับตามความเหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาลและในวันที่ 16-17 ธันวาคมนี้ ทาง ภรพช.จะมีการประชุมร่วมกันที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคงจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้ และจะมีหารือร่วมกับชมรมเภสัชกรสาธารณสุขจังหวัด และชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปเพื่อขับเคลื่อนต่อไป
ต่อข้อซักถามว่า โครงการนี้เป็นการเพิ่มภาระและขั้นตอนการทำงานให้กับพยาบาลและเภสัชกรหรือไม่ ภก.ปิยเชษฐ์ กล่าวว่า มองว่าเป็นการลดขั้นตอนจากเดิมที่พยาบาลหรือเภสัชกรต้องเป็นผู้จัดยาให้กับผู้ป่วย ซึ่งค่อนข้างใช้เวลา แต่โครงการนี้ให้ผู้ป่วยหยิบยาเอง เพียงแต่อาจต้องมีการเดินดูความถูกต้องในการหยิบยาของผู้ป่วยก่อน โดยผู้ป่วยบางคนที่มีความรู้ดี หรือรายการยาไม่ซับซ้อน การหยิบยาเอง 2-3 ครั้งก็สามารถทำได้เองอย่างถูกต้องแล้ว มีผู้ป่วยเพียงบางคนเท่านั้นที่ต้องดูแลใกล้ชิด แต่ผลที่ได้กลับมานับว่ามีความคุ้มค่า โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเอง
- 200 views