เภสัชกรร้านยาเครือข่าย รพ.พุทธชินราช ระบุ โครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน รุกพัฒนาบทบาทเภสัชกรชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมร้านยาในระบบสุขภาพ เผยมีผู้ป่วยรับยาที่ร้าน 5 ราย ต่างพอใจ สะดวก ไม่ต้องรอคิวที่ห้องยา รพ. แนะควบรวมฐานข้อมูล รพ.และ สปสช. ลดภาระร้านยาทำเอกสาร พร้อมเสนอขยายโครงการรวมถึงผู้ป่วยสิทธิอื่น เหตุมีผู้ป่วยไม่ใช่สิทธิบัตรทอง อยากรับยาที่ร้านยา
ภก.ปรัชญา สวนเอก ร้านยาครอบครัวเภสัช เครือข่ายหน่วยบริการร่วมร้านยาโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก กล่าวว่า ได้อ่านข้อมูลโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยกลไกร้านยาก็มีความสนใจ มองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้งานของเภสัชกรชุมชนก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในการเข้ามีส่วนร่วมในระบบสุขภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้บทบาทของเภสัชกรชุมชนเห็นภาพชัดเจน จากเดิมที่การบริการในร้านยาจะเป็นลักษณะที่คนเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ มาขอซื้อยาแล้วก็จบแค่นั้น เภสัชกรชุมชนไม่ได้ทำบทบาทการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยในระดับปฐมภูมิแบบที่เคยมีการวางแผนกันไว้ ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นส่วนที่เข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ เป็นการกระจายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสู่ร้านยา ประกอบกับเมื่ออ่านหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่เราทำได้ และร้านยาเราเองเป็นร้านยาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GPP ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่แล้ว
ทั้งนี้เราได้ยื่นเรื่องเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อเดือนกันยายน 2562 ซึ่งทางโรงพยาบาลพุทธชินราช และ สปสช.เขต 2 พิษณุโลก ได้มีการเปิดรับสมัคร โดยใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน และได้เริ่มโครงการฯ ให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาหรือโครงการรับยาใกล้บ้านเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ป่วยมารับยาที่ร้านจำนวน 5 ราย เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการคงที่ สามารถควบคุมอาการได้ อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ซึ่งจากการสอบถามผู้ป่วยถึงสาเหตุที่เลือกมารับยาที่ร้านยา ต่างบอกว่าสะดวกกว่ารอรับยาที่โรงพยาบาล ทั้งร้านยายังอยู่ใกล้บ้าน ช่วยลดขั้นตอนหาหมอ พอคุณหมอตรวจเสร็จก็ยื่นใบที่ห้องยาและกลับบ้านได้เลย ผู้ป่วยหลายคนมีเวลาว่างแค่ครึ่งวันเช้า โดยร้านยาเราอยู่ห่างจากโรงพยาบาล 7-8 กิโลเมตร ใช้รูปแบบบริหารจัดการยาโมเดลที่ 1 ซึ่งทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้จัดยาเฉพาะรายให้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการแต่ละรายและส่งยามาไว้ที่ร้านยาในเย็นวันนั้นเลย เมื่อยามาถึงร้านยาจะโทรแจ้งให้ผู้ป่วยมารับยาได้ ด้วยขั้นตอนเหล่านี้ไม่ได้ยุ่งยากอะไร โดยร้านยาเพียงแต่ต้องเพิ่มการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยเท่านั้น เช่น ข้อมูลความดันโลหิต การทานยา ประวัติแพ้ยา เป็นต้น
ภก.ปรัชญา กล่าวต่อว่า จากการเข้าร่วมโครงการฯ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ส่วนที่มองว่าน่าจะมีการปรับแก้ไขคงเป็นเรื่องเอกสาร เพราะต้องมีการกรอกเอกสารให้กับโรงพยาบาลและ สปสช.ที่ซ้ำซ้อนกัน และเอกสารหลายอย่างยังเป็นการใช้กระดาษอยู่ จึงอยากให้ควบรวมเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อจะได้ไม่ต้องทำข้อมูลซ้ำซ้อน เป็นการช่วยเพิ่มความสะดวก และลดภาระให้กับผู้ทำงาน ส่วนกรณีที่จำนวนผู้ป่วยที่เลือกมารับยาที่ร้านยายังมีจำนวนไม่มากนั้น คงต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลกับผู้ป่วยและประชาชนรับทราบมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลเองได้เชิญร้านยาไปร่วมประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลกับผู้ป่วยที่โรงพยาบาล แต่ด้วยที่ร้านเรามีเภสัชกรประจำร้านคนเดียว ซึ่งจะกระทบต่อการบริการได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าบริการนี้หากผู้ป่วยสะดวกและได้ประโยชน์ จะมีการบอกต่อแบบปากต่อปากในการชักชวนผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ป่วยในโครงการมีเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้สิ่งที่ขอเสนอเพิ่มเติมคืออยากให้มีการขยายโครงการผู้ป่วยรับยาร้านยาไปยังผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพอื่นด้วย เพราะที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองอยากเข้าร่วม เพราะหลายคนหาหมอเสร็จก็มีงานหรือธุระที่ต้องไปทำต่อ แต่ไม่สามารถไปได้เพราะต้องรอคอยรับยาที่ห้องยาก่อน ทั้งนี้ร้านยาเป็นส่วนหนึ่งในระบบสุขภาพ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ทำบทบาทตรงนี้ด้วยสาเหตุหลายอย่าง แต่โครงการนี้ได้ดึงร้านยาเข้ามีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ และจากที่ดำเนินการมา 2 เดือน มองว่ามีประโยชน์กับประชาชนและยังไม่เห็นข้อเสีย คงต้องรอดูต่อไป
- 144 views