หนึ่งในคำมั่นที่บรรดาผู้นำประเทศรับปากไว้ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ก็คือประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด จะตั้งใจทำ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ของตัวเอง ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ภายในปี 2573 ซึ่งเป็น “เดตไลน์” ของแผนพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
ทั้งหมดนี้ รวมถึงประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องใน “อาเซียน” อย่างกลุ่มประเทศ CLMV อย่างกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ที่แม้จะยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขยังไม่ครอบคลุม และยังไม่ดีนัก แต่ก็ระบุว่า ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของทั้ง 4 ประเทศ จะมีความก้าวหน้าที่พอจะเรียกเป็น “ความสำเร็จ” ได้
เริ่มจาก “ลาว” ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ NHI เมื่อปี 2559 ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของระบบประกันสุขภาพ โดยคนลาวทุกคน สามารถเข้าถึงการรักษาในทุกโรคได้ใน 17 จังหวัด โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย เช่น หากเข้ารับการรักษาเป็น “ผู้ป่วยนอก” ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ระดับเดียวกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ก็เสียค่าใช้จ่ายราว 60 บาท และหากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด ก็เสียค่ารักษาราว 48 บาท เท่านั้น
ส่วนคนจน (มีหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นผู้ประเมิน) ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และพระสงฆ์ ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่ารักษา
ขณะเดียวกัน เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ลาว เพิ่งยุบรวมระบบ “ประกันสังคม” ซึ่งก่อนหน้านี้ ข้าราชการ และพนักงานบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งสังกัด ไปอยู่ภายใต้ระบบ NHI ซึ่งมาร์ค จาค็อบส์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำลาว ยกย่องว่าเป็น “ความก้าวหน้า” ที่สำคัญ ที่จะทำให้ระบบสุขภาพลาว ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ปัจจุบัน อัตราทารกที่เสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ของลาว ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราผู้ป่วยด้วยโรคจากพฤติกรรม ก็สามารถเอาชนะ “โรคติดต่อ” ได้แล้ว เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ แต่ความท้าทายสำคัญก็ยังคงอยู่ นั่นคือจำนวนแพทย์ ยังคงต่ำ อยู่ที่ 0.5 คน ต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่เตียงโรงพยาบาล อยู่ที่ราว 1.5 เตียง ต่อประชากร 1,000 คน โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ยังต้องเพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพให้สูงยิ่งขึ้น หากต้องการให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จ...
ขณะที่ กัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านลาว ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จ ภายในปี 2568 หรืออีกไม่ถึง 6 ปีข้างหน้า ปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทนจากรัฐบาลเพิ่งเดินทางเยือนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไทย เพื่อดูงานการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ปัญหาสำคัญของกัมพูชาก็คือ ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ว่าจะเดินหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไร โดยหากพิจารณาจากตัวเลขในปัจจุบัน จะพบว่ารัฐบาล ลงทุนในระบบ “สาธารณสุข” น้อยมาก หากพิจารณาตัวเลขในปี 2558 งบประมาณจากรัฐบาลกัมพูชาลงทุนกับระบบสาธารณสุขเพียง 23% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการลงทุนด้านสาธารณสุขทั้งหมด ต่างจากรัฐบาลลาวที่ลงทุนสูงถึง 50.5% และไทย ที่ลงทุนสูงถึง 77.1%
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวส์เซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย พบว่า มากกว่า 30% ของชาวกัมพูชา ต้อง “กู้เงิน” เพื่อใช้สำหรับเข้าโรงพยาบาล – รักษาโรค
ขณะที่กลุ่มคนที่จนที่สุดของประเทศ 3 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรกัมพูชา อยู่ภายใต้การดูแลของกองทุน Health Equity Fund (HEF) หรือกองทุนเพื่อความเท่าเทียมด้านสุขภาพ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ เข้ารับการรักษาฟรี หากมี “บัตรคนจน” ซึ่งออกโดยรัฐบาลกัมพูชา
ปัญหาก็คือ กองทุนนี้ กลับอยู่ภายใต้ “เงินบริจาค” ก้อนใหญ่ ทั้งจากสหภาพยุโรป จากเอ็นจีโอ ในประเทศสแกนดิเนเวีย และจากรัฐบาลกัมพูชาเอง ซึ่งไม่มีหลักประกันชัดเจนว่าเงินบริจาคก้อนนี้ จะจีรังยั่งยืนไปถึงไหน และในอนาคตจะทำอย่างไรให้เรื่องของ “สังคมสงเคราะห์” พัฒนาไปสู่ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
แม้จะยังไม่มีคำตอบ แต่รัฐบาลสมเด็จฮุนเซน ยังคงยืนยันคำเดิมว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเกิดขึ้นในกัมพูชา ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าแน่นอน
ในบรรดาประเทศกลุ่ม CLMV เวียดนาม ดูจะเป็นประเทศที่มีระบบสุขภพาพ “นิ่ง” ที่สุด ตัวเลขปัจจุบันพบว่าประชากรมากกว่า 80% ครอบคลุมภายใต้ “ประกันสุขภาพ” ซึ่ง ณ ขณะนี้ ถือว่าไปไกลกว่าเป้าหมายของสหประชาชาติ ในปี 2573 แล้ว
ทั้งนี้ เวียดนามมีระบบสุขภาพหลัก 2 ระบบ คือระบบที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแล และระบบที่ประกันสังคม เป็นผู้ดูแล รวมถึงยังมี “สวัสดิการสงเคราะห์” สำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยรัฐบาลพยายามวางแผนที่จะรวมทุกกองทุน และทำให้สิทธิประโยชน์ของแต่ละระบบเท่าเทียมกัน แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาใกล้เคียงกับประเทศรอบด้าน ทั้งการมีพื้นที่ทุรกันดาร ที่ขาดแคลนโรงพยาบาล ปัญหาการกระจุกตัวของโรงพยาบาล ที่มักจะอยู่แต่ในเมืองใหญ่เท่านั้น และความไม่สมดุลระหว่างแพทย์ - คนไข้ และเตียงโรงพยาบาล – คนไข้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนาม ยืนยันว่า หลังจากนี้ ระบบจะดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากมีเป้าหมายที่ชัดเจนกำหนดไว้แล้ว
ในบรรดาประเทศกลุ่มนี้ อาจมีเพียง พม่า ที่มีพัฒนาการช้าที่สุด หลังเปลี่ยนถ่ายเป็นรัฐบาลพลเรือนช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการลงทุนในระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้น จาก 1% เป็น 3-4% ในปี 2557
แต่ในการสร้าง “โครงสร้างพื้นฐาน” ก็ยังไม่เพียงพอ โดยปัจจุบัน คนพม่า จ่ายเงินออกจากกระเป๋าตัวเอง เพื่อรักษาพยาบาลสูงที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาค คิดเป็นมากกว่า 51% ของตัวเลขค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพทั้งหมด ซึ่งนั่นก็ถือว่าดีมากแล้ว หากเทียบกับตัวเลขในปี 2554 ที่ประชาชนต้องจ่ายเงินมากถึง 79% ในการรักษาตัว
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อมก็ยังมีน้อย และกระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ โดยเมื่อลงไปถึงพื้นที่ชนบท กลับขาดแคลนสถานพยาบาลเป็นอย่างมาก จากปัจจัยใหญ่คือ “ชนกลุ่มน้อย” “ชนเผ่า” ยังคงมีการสู้รบกับรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่า ให้คำมั่นว่าภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติ พม่าจะสามารถกำหนด “สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน” ให้ประชาชนกว่า 53 ล้านคน สามารถเข้าถึงการรักษาได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลของรัฐ พร้อมกับเปิดรับความช่วยเหลือทั้งเรื่องเงินทุน องค์ความรู้ด้านสาธารณสุข ในการพัฒนาระบบสุขภาพ
แต่จนถึงขณะนี้ ความคืบหน้า ยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้คนป่วยจำนวนมาก เลือกที่จะข้ามชายแดนมาใช้บริการในไทย ซึ่งมีระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ตัวแล้ว และเสียค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิด
หากประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศเหล่านี้ ยังคง “ติดขัด” และไม่สามารถพัฒนาได้ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ระบบของไทย จะต้องรับคนไข้จากประเทศกลุ่มนี้ให้เข้ามารักษามากขึ้นเรื่อย ๆ...
แปลและเรียบเรียงโดย สุภชาติ เล็บนาค
แหล่งที่มา
1.Lao Ministry of Health moves forward with National Health Insurance [www.who.int]
2.Physicians (per 1,000 people) [data.worldbank.org]
3.Universal health coverage lessons from Vietnam [www.bangkokpost.com]
4.Healthcare in Vietnam [www.allianzcare.com]
5.Primary healthcare remains the foundation for all in Cambodia [www.phnompenhpost.com]
6.Almost 30 percent of Cambodians borrow money for healthcare [medicalxpress.com]
- 2103 views