สบส.จ่อออกกฎหมายยกระดับวิชาชีพผู้ที่ดูแลปัญหาสายตา จากปัจจุบันมี 3 กลุ่ม จักษุแพทย์ นักทัศนมาตรศาสตร์ และร้านแว่นตรวจวัดสายตา เตรียมตีกรอบ หาจุดยืน ระหว่าง นักทัศนมาตรศาสตร์ และร้านแว่นตรวจวัดสายตา ย้ำยังไม่ถึงขั้นจัดระเบียบร้านแว่นตาใหม่ แต่ต้องช่วยกันรักษามาตรฐาน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สบส.อยู่ระหว่างการหารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อการจัดทำกฎหมายวิชาชีพของผู้ที่ดูแลปัญหาสายตา ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีอยู่ 3 กลุ่ม คือ จักษุแพทย์ นักทัศนมาตรศาสตร์ และกลุ่มที่มีประสบการณ์ในการตรวจวัดสายตา และการแก้ไขการมองเห็นด้วยแว่นตา และคอนแทคเลนส์ ซึ่งใน 2 กลุ่มหลังนั้นยังมีภารกิจที่ทับซ้อนกันอยู่ เพราะเดิมมีจักษุแพทย์เป็นผู้ตรวจ รักษาแก้ไขความผิดปกติดวงตา และการมองเห็น และมีอีกกลุ่มที่ทำงานในร้านแว่นและสืบทอดความรู้กันมาในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการมองเห็น เช่น สายตาสั้น-ยาว-เอียง-เหล่ แก้โดยการใช้แว่นตา และคอนแทคเลนส์เป็นหลัก ซึ่งมีการตั้งเป็นสมาคมวิชาการแว่นตาคอยสอนการทำเรื่องนี้อยู่
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ต่อมาราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดนักทัศนมาตรศาสตร์ ที่มีลักษณะการทำงานแบบเดียวกันผู้ที่มีประสบการณ์แก้ไขปัญหาการมองเห็น จากนั้นกลุ่มนักทัศนมาตรศาสตร์ ได้มาขอขึ้นเป็นวิชาชีพหนึ่ง ก็มาขอและล่าสุดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ เพราะมีการเรียนการสอนชัดเจน มีหลักสูตรครบ ปัจจุบันมีสอนในหลายๆ มหาวิทยาลัย อีกทั้ง กำลังจะมีการยกร่างกฎหมายวิชาชีพขึ้นมา โดยมี สบส.เป็นแม่งาน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการตีความอยู่ว่าแล้วคนที่ทำมาก่อน ที่อยู่ในร้านแว่นจะถือเป็นเรื่องของการประกอบวิชาชีพด้วยหรือไม่ เพราะเนื้องานคาบเกี่ยวกันอยู่ แต่ก็บริการประชาชนเหมือนกัน ดังนั้นจึงให้พูดคุยกันให้ลงตัว จุดยืนจะอยู่ตรงไหน เพื่อประโยชน์ของประชาชน และผู้ปฏิบัติงานเอง
เมื่อถามว่า หากมีกฎหมายเฉพาะสำหรับ 2 กลุ่มนี้แล้ว ต้องมาจัดระเบียบร้านแว่นตาใหม่หรือไม่ เพราะปัจจุบันมีทั้งแบบที่มีร้านชัดเจน หลายสาขา กับที่มีการให้บริการในตลาดนัดต่างๆ ด้วย นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้พูดไปถึงขนาดนั้น ยังดูกันเฉพาะเรื่องของบทบาทหน้าที่ว่าใครจะทำอะไร แค่ไหน แต่ทุกคนก็ต้องช่วยกันรักษามาตรฐานของตัวเอง ตอนนี้มีนักทัศนมาตรศาสตร์ มีอยู่ประมาณหลัก 100 คน แต่กำลังมีการเปิดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่ทำงานในร้านแว่นตาตอนนี้มีเยอะกว่าจำนวนหลักพันคน
- 457 views