เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยชี้ รางวัล "นางฟ้าในดวงใจ" ที่มอบแก่พยาบาล 4 ท่านที่บาดเจ็บพิการจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อย้ำเตือนถึงความเสียสละไม่ให้ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา ส่วนภาพรวมระบบเยียวยาในขณะนี้ยังมีอีก 4 ประเด็นที่ต้องต่อสู้ให้เกิดสวัสดิการแก่พยาบาลที่เสียชีวิตหรือพิการกันต่อไป
น.ส.ปุญญิศา วัจฉละอนันท์ เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การมอบโล่รางวัล "นางฟ้าในดวงใจ" เมื่อวันพยาบาลแห่งชาติเดือนที่ผ่านมา แก่พยาบาล 4 ท่านที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย 1.น.ส.อารีย์ แก้ววารี จากโรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร ซึ่งนอนป่วยมานานนับ 10 ปี 2.นางพัชรี อุดมา โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก พิการมาแล้ว 7 ปี 3. น.ส.จิรัชญา จานุสรณ์ โรงพยาบาลเขาคิชกูฎ จ.จันทบุรี พิการมา 3 ปี และ 4.นางรัชนีย์ สังข์ลำใย โรงพยาบาลบ้านไร่ จ.อุทัยธานี พิการมา 2 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจและต้องการกระตุ้นเตือนถึงความเสียสละของคนเหล่านี้ไม่ให้ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา
ขณะที่ภาพรวมการสร้างระบบการดูแลพยาบาลที่บาดเจ็บ เสียชีวิตและพิการจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น เดิมทีถ้าเกิดการเจ็บป่วยเป็นระยะเวลานานก็จะถูกให้ออกจากราชการ แต่จริงๆแล้วยังมี พ.ร.บ.สงเคราะห์ข้าราชการ พ.ศ.2498 ซึ่งออกเป็นกฎหมายในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมปี 2546 ซึ่งระบุว่าการนอนรักษาในโรงพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา สถานะผู้ป่วยจะยังคงเป็นข้าราชการอยู่และได้เงินเดือนเต็ม
อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ไม่ค่อยมีคนรู้และไม่ค่อยถูกนำมาใช้ โดยในกรณีของนางรัชนีย์ สังข์ลำใย โรงพยาบาลบ้านไร่ เพิ่งเป็นกรณีที่ 2 ที่ใช้กฎหมายฉบับนี้ ขณะที่ขั้นตอนกระบวนการในปัจจุบันก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาการบาดเจ็บเพื่อพิจารณากรณีการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ในทุกๆเดือน ถือเป็นเรื่องใหม่จากเดิมที่ไม่เคยมีกลไกนี้ รวมทั้งการเบิกเงินเยียวยาก็มีงบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้จากเดิมที่ไม่เคยมี
อย่างไรก็ดี ก็ยังมีช่องว่างในการเยียวยาดูแลที่ต้องต่อสู้เรียกร้องกันต่อไป ได้แก่ 1.เงินประจำเดือนแก่บิดามารดาและทุนแก่ทายาทของผู้พิการหรือเสียชีวิต ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้เคยเสนอขอกระทรวงการคลังโดยใช้โมเดลแบบตำรวจและทหารคือขอให้มีเงินประจำเดือนแก่บิดามารดา มีทุนให้ทายาท และมีการเลื่อนชั้นยศ อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังยังไม่อนุมัติในขณะนี้ รวมทั้งในส่วนของสำนักงาน ก.พ. ก็เคยมีข้อกำหนดในการให้ทายาทสามารถเข้ารับราชการได้ อย่างไรก็ดี ผู้เสียชีวิตหรือพิการบางคนลูกยังเล็ก เมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้เกิดการลืมเลือนไปได้เพราะไม่มีหน่วยงานใดเก็บบันทึกประวัติเหล่านี้ไว้
2.ควรให้พยาบาลที่พิการได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตลอดชีวิต เพราะตามข้อกำหนดของสภาการพยาบาลต้องต่ออายุใบอนุญาตทุก 5 ปี แต่เมื่อมีความพิการ ไม่สามารถไปอบรมเก็บหน่วยกิตเพื่อนำไปต่ออายุใบประกอบโรคศิลปะได้ จึงควรให้ผู้พิการสามารถถือใบประกอบโรคศิลปะได้ตลอดไป เพราะหากเมื่อไหร่ที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะก็จะมีปัญหาขาดจากความเป็นพยาบาลวิชาชีพ
3.ควรมีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองไปรับการบำบัดเพราะถ้าไปในเวลาราชการกลายเป็นว่าต้องลาป่วยไป ทำให้เสียสิทธิและเสียรายได้จากค่าตอบแทนต่างๆ
4.การเบิกอุปกรณ์หรืออวัยวะเทียม ตามสิทธิเบิกได้ 3 หมื่นบาท แต่อุปกรณ์บางอย่าง เช่น รองเท้าเทียมที่ตัดพิเศษให้เหมาะสมกับสรีระมีราคาเป็นแสน ผู้ที่พิการต้องเป็นหนี้แสนกว่าบาทเพื่อให้ได้รองเท้าที่ฝึกยืนและตรงนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วย
นอกจากนี้ น.ส.ปุญญิศายังกล่าวถึงประเด็นความปลอดภัยในการทำงานด้วยว่าปัจจุบันความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานไม่ได้มีแค่การขึ้นรถรีเฟอร์อย่างเดียว แต่ในห้องฉุกเฉินก็มีประเด็นร้อนแรงเกิดขึ้นเยอะมาก บางโรงพยาบาลถึงขนาดต้องมีเหล็กกั้น มีการตรวจอุปกรณ์เหมือนสนามบิน ดังนั้นเสนอว่าควรมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานและโรงพยาบาล โดยเน้นที่การปรับเป็นหลัก เช่น ถ้ามีคนมาก่อเหตุจนทำให้โรงพยาบาลเกิดความเสียหายให้ปรับแล้วนำค่าปรับเข้าเป็นรายได้ของโรงพยาบาลเลย ไม่ต้องไปเวียนเข้าหน่วยงานอื่น ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลสามารถนำเงินเหล่านี้ไปจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ได้ เหมือนเป็นค่าชดเชยที่ผู้ก่อเหตุจ่ายให้แก่โรงพยาบาล
"เครื่องมือแพทย์บางอย่าง เครื่องเดียวใช้ทั้งอำเภอ หรืออย่างเครื่องกระตุ้นหัวใจราคาเป็นล้าน ถ้ามันชำรุดกว่าจะซื้อใหม่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วประชาชนทั้งอำเภอที่มารับบริการในวันนั้นก็จะไม่ได้ใช้ ต้องเสียโอกาสหรือไปรับบริการในโรงพยาบาลที่ไกลขึ้นถ้าจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์นั้นๆ ดังนั้นควรมีกฎหมายคุ้มครองเป็นการเฉพาะ เน้นที่การปรับเพื่อนำเงินชดเชยให้โรงพยาบาลไปซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ใหม่ได้" น.ส.ปุญญิศา กล่าว
- 34 views