ผอ.รพ.รามัน ชวนโรงพยาบาลชุมชนที่อัตราการครองเตียงต่ำ ปรับพื้นที่ลดจำนวนเตียงแล้วเพิ่มพื้นที่นอนสำหรับญาติคนไข้และมีฉากกั้นเป็นสัดส่วน ชี้ช่วยลดภาพโรงพยาบาลอนาถา เพิ่มคุณค่าแก่องค์กร อีกทั้งส่งเสริมนโยบาย Refer Back รับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลใหญ่ได้เป็นอย่างดี
นพ.รอซาลี ปัตยบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา โรงพยาบาลต้นแบบในการปรับปรุงหอผู้ป่วยในให้มีฉากกั้นและเตียงสำหรับญาติที่มานอนเฝ้าไข้ผู้ป่วย เปิดเผยว่า สำหรับโรงพยาบาลที่ยังมีอัตราการครองเตียงไม่เยอะ ตนคิดว่าน่าจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ โดยลดจำนวนเตียงลงแล้วเพิ่มพื้นที่สำหรับให้ญาติผู้ป่วยนอนเฝ้าไข้รวมทั้งมีฉากกั้นด้วย เพื่อเป็นพื้นที่ที่สร้างคุณค่าให้กับองค์กร เพราะถ้าปล่อยไว้ว่าง ๆ ก็ไม่ได้สร้างคุณค่าอะไร
นพ.รอซาลี กล่าวว่า ปัจจุบัน หากไปดูคนไข้ที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจะเห็นว่ามีเตียงติด ๆ กัน ตอนกลางคืนเวลาญาตินอนเฝ้าก็จะเอาเสื่อไปปูนอนใต้เตียง ภาพแบบนี้ตนใช้คำว่าอนาถา ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลรามันถือว่าคนไข้ไม่ว่าจะฐานะยากจนหรือร่ำรวย ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็เลยปรับพื้นที่หอผู้ป่วยใน จากแถวหนึ่งมี 4 เตียงให้เหลือ 3 เตียง แม้การที่เตียงหายไปจำนวนหนึ่งจะส่งผลต่อรายรับของโรงพยาบาล แต่สิ่งที่ได้มาคือเตียงนิ่ม ๆ ให้ญาติได้นอนพัก มีฉากกั้นเป็นสัดส่วน คล้ายกับห้องพิเศษรวมในโรงพยาบาลเอกชนนั่นเอง ซึ่งการเอาเตียงเอาฉากมากั้นเพิ่มไม่ได้ลงทุนมากมายเลย ของโรงพยาบาลรามันทำทั้งหอผู้ป่วย 24 เตียง ใช้เงินไป 2 แสนกว่าบาทเท่านั้น แต่ได้เปลี่ยนจากโรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงพยาบาลอนาถา คืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์กลับคืนมา
"รู้สึกไหมว่าเวลาพูดถึงโรงพยาบาลของรัฐ ทุกคนนึกถึงโรงพยาบาลอนาถา มานอนกันแออัดยัดเยียด แต่ถ้าเราปรับหอผู้ป่วยจากสภาพอนาถาให้เป็นสภาพกึ่งพิเศษแบบนี้ มันจะเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กร สร้างความรู้สึกประทับใจของผู้ป่วยที่มีต่อโรงพยาบาลได้เยอะเลย" นพ.รอซาลี กล่าว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามีหลายโรงพยาบาลมาดูงานที่โรงพยาบาลรามัน แต่สุดท้ายกลับไปก็ก้าวข้ามเรื่องเงินทองไม่ได้ การลดจำนวนเตียงส่งผลกับรายได้เพราะจำนวนผู้ป่วยในลดลง ห้องพิเศษที่มีอยู่อาจจะขายไม่ค่อยออก นี่คือความท้าทายที่หลายโรงพยาบาลยังก้าวข้ามไม่ได้ ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลรามันแก้ปัญหาโดยการเพิ่มเตียงผู้ป่วยพิเศษรวมให้มากขึ้นก็พอช่วยให้ไม่ให้รายได้ลดลงมากจนเกินไป
นพ.รอซาลี กล่าวอีกว่า โมเดลแบบนี้อาจไม่เอื้อกับการทำในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปที่มีผู้ป่วยแออัดอยู่แล้วเพราะถ้าลดพื้นที่เตียงลงก็ไม่รู้จะถ่ายคนป่วยไปไว้ไหน แต่เหมาะกับโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่ที่อัตราการครองเตียงไม่สูงมาก แสดงว่ายังมีเตียงว่างอยู่ ยังพอมีพื้นที่เหลืออยู่
"ผมคิดว่าคนไข้ก็อยากกลับมานอนโรงพยาบาลชุมชนเพราะว่าทนความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คนไข้ไม่อยากกลับมา เพราะกลับมาก็ยังเป็นเตียงอนาถาอยู่ ถ้าโรงพยาบาลชุมชนทำแบบนี้แล้วให้โรงพยาบาลใหญ่ส่งตัวคนไข้กลับมาพักฟื้นก็จะทำให้คุณภาพการบริการดีขึ้น และเป็นการส่งเสริมนโยบาย Refer Back ส่งกลับไปสู่โรงพยาบาลชุมชนได้ดีมาก ๆ " นพ.รอซาลี กล่าวทิ้งท้าย
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค. 2562 โลกโซเชียลได้ชื่นชมโรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้ปรับปรุงพื้นที่ผู้ป่วยในให้มีเตียงนอนสำหรับญาติผู้ป่วยและมีฉากกั้นเป็นสัดส่วน ซึ่งโรงพยาบาลรามันก็เป็นต้นแบบที่โรงพยาบาลคูเมืองนำไปดำเนินการนั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก โรงพยาบาลรามัน
- 367 views