"มิสเตอร์เกย์เวิลด์ไทยแลนด์" กระตุกรัฐ นโยบายผลักดันการให้ยาต้านไวรัสก่อนมีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) ต้องไม่ตีตราใครว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ชี้ไม่มีใครชอบให้คนอื่นมาตัดสิน เชื่อทุกคนรักตัวเองและอยากเข้าสู่การป้องกัน แต่การตีตราของภาครัฐจะทำให้ผู้รับบริการไม่กล้าเข้ามาใช้บริการ
นายชโยดม สามิบัติ
นายชโยดม สามิบัติ Mr.Gay World Thailand 2019 ในฐานะหนึ่งในผู้รับบริการยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อก่อนมีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) มานานกว่า 3 ปี กล่าวในเวทีอภิปราย "วิธีในการขยายการใช้เพร็พในประเทศไทยเพื่อยุติปัญหาเอดส์" ในงานสัมมนาติดตามความคืบหน้าของการให้บริการเพร็พในประเทศไทยเพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสที่ได้ทรงรับการถวายตําแหน่ง UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention for Asia-Pacific ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อเร็วๆนี้ โดยตั้งข้อสังเกตในเรื่องการให้ PrEP กับการตีตรา เพราะคนมองว่าคนที่ใช้ PrEP เป็นคนไม่ดี มีความเสี่ยงแบบโน้นแบบนี้ ซึ่งต้องขอบอกว่าเราไม่มีทางรู้ว่าคนแบบไหนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ยกตัวอย่างตนเองก็เป็นคนที่การศึกษาดี เรียนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ ไม่ได้ไปงานปาร์ตี้ถอดเสื้อ ไม่ได้ใช้ยาเสพติด เพราะฉะนั้นไม่สามารถตัดสินได้ว่าต้องเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องใช้ PrEP คนที่ไหว้พระสวดมนต์ทุกวันก็เสี่ยงได้
นายชโยดม ยังให้ความคิดเห็นถึงแนวทางการผลักดัน PrEP ของภาครัฐ โดยชี้ว่าถ้าอยากให้ PrEP ได้ครอบคลุมและลดการติดเชื้อต้องเริ่มจากการยุติการตีตราว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ให้คนที่รู้ว่าไลฟ์สไตล์ของตัวเองมีความเสี่ยงเป็นฝ่ายวิ่งมาหาบริการ
"อันนี้สำคัญที่สุดเพราะถ้าไปบอกว่าเขาเสี่ยง เขาจะบอกทันทีว่าเขาไม่เสี่ยง เพราะคนเราไม่มีใครชอบให้คนอื่นมาตัดสิน แต่ถ้าให้เขาเลือกเองว่าเขามีเพศสัมพันธ์บ่อยหรือไม่ มีการป้องกันหรือไม่ เปลี่ยนคู่นอนบ่อยหรือไม่ หรือว่ารู้ข้อมูลของคู่นอนมากน้อยแค่ไหน แค่ถาม 2-3 อย่างนี้ส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือแม้กระทั่งถามว่ารู้ผลตรวจเลือดของตัวเองในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าไม่รู้ ส่วนตัวผมก็ถือว่าเสี่ยงแล้ว" นายชโยดม กล่าว
นายชโยดม ย้ำว่า ถ้าดูจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ภาครัฐอยากให้ได้รับ PrEP จำนวนกว่า 1 แสน สิ่งที่สำคัญคือลดการตีตราผู้ใช้ PrEP ดังนั้นอยากฝากว่ารัฐบาลหรือผู้ใหญ่ต้องเป็นคนเริ่มต้นยุติการตีตราต่อกลุ่ม LGBT หรือผู้ใช้ PrEP เพราะถ้าการตีตรามาจากผู้ให้บริการเอง ผู้ใช้จะเข้าถึงลำบาก
"ผมเชื่อว่าผู้ใช้สามารถประเมินตัวเองได้ ทุกคนรักตัวเองและอยากเข้าสู่การป้องกัน แต่การตีตราของภาครัฐหรือผู้ให้บริการเอง เป็นตัวที่ทำให้ผู้รับบริการไม่กล้าเข้ามาใช้บริการ" นายชโยดม กล่าว
นายชโยดม ยังกล่าวถึงประเด็นความกังวลที่ว่าการให้ PrEP จะทำให้เกิดการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น โดยมองว่าเรื่องนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกัน 100% เพราะคนที่ใช้ PrEP รู้อยู่แล้วว่าป้องกันได้แค่เชื้อเอชไอวีแต่ป้องกันโรคอื่นไม่ได้ แต่ทุกครั้งที่ไปตรวจเลือด ผู้รับการตรวจจะรู้สถานะของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆด้วย เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวถือว่าการรับ PrEP ทำให้รู้สึกเกิด Awareness ในเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากกว่า
นายจำลอง แพงหนองยาง
ด้านนายจำลอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หนึ่งในองค์กรชุมชนที่ร่วมให้บริการ PrEP ในพื้นที่ กทม.และพัทยา กล่าวถึงประสบการณ์การให้บริการ PrEP ว่า สิ่งที่จะดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายมารับการตรวจเลือดหรือรับ PrEP คือการจัดบริการที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการของคนที่อยากได้ แล้วกลุ่มเป้าหมายก็จะมาหาเอง โดยยกตัวอย่างคลินิกของมูลนิธิ ซึ่งสามารถจองคิวบริการผ่านทางออนไลน์ เมื่อมีผู้จองคิวมาก็จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นก่อน ดังนั้นเวลาผู้รับบริการเดินมาที่คลินิกกระบวนการจะได้รวดเร็วขึ้น หมายความว่าใช้เวลาไม่นานในการได้รับ PrEP
"เมื่อ PrEP มาอยู่ในโลกออนไลน์ ทุกคนเห็นได้ เข้าใจได้ และเวลาเขามาถึงแล้วเราสามารถคุยภาษาเดียวกับเขาได้ ทางผู้รับบริการก็จะรู้สึกสบายใจ ที่สำคัญเคสส่วนใหญ่ที่มารับบริการที่เรา เขาจะลดความกังวลลงไปได้เพราะเมื่อไหร่ที่เกิดความกังวล เขาไม่กลัวที่จะโทรมาหาเรา เราบอกว่าโทรได้ตลอดเวลา ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้บริการของเราได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ
นายจำลอง กล่าวต่อไปว่า ที่คลินิกของมูลนิธิไม่ได้มีแค่ PrEP แต่ยังมีการให้ฮอร์โมนเป็นตัวช่วยที่ดึงคนให้เขาสู่การให้บริการได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เห็นชัดมากที่พัทยา ก่อนหน้านี้มีผู้มารับบริการเดือนละ 7-8 คน แต่พอบอกว่ามีฮอร์โมนให้ เดือนที่ผ่านมามีผู้มารับบริการกว่า 70 คน
"พอเอาตัวนี้มาดึงคนเข้าสู่บริการ นอกจากช่วยเรื่อง PrEP แล้วยังให้เขาได้ตรวจเลือดด้วย ดังนั้นขอฝากว่าการจัดบริการที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการของคนที่อยากได้แล้วเขาจะมา เมื่อมาแล้วมีอย่างอื่นเสนอเสริมเข้าไป เขาก็จะใช้บริการเสริมด้วย"นายจำลอง กล่าว
อย่างไรก็ดี การที่มีผู้รับบริการเพิ่มมากขึ้นก็ทำให้เกิดปัญหาอยู่บ้าง กล่าวคือเมื่อคนสนใจ PrEP มากขึ้น คนที่อยากได้ก็จะไปหาข้อมูลจากออนไลน์ด้วย พอหาข้อมูลได้ ทุกคนก็อยากได้ PrEP โดยไม่มีความเข้าใจ ครั้งล่าสุดมีกลุ่มชายรักชายเดิน walk in มาขอรับ PrEP ที่คลินิก 10 กว่าราย พอคัดกรองเสร็จเหลือแค่ 4 ราย ส่วนที่เหลือบางคนแค่สนใจ บางคนเห็นเพื่อนกินก็อยากกินตามทั้งๆที่ตัวเองไม่มีความเสี่ยง คือรับข้อมูลแล้วไม่สามารถประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้ จุดนี้เองเป็นกระบวนการบริการที่เจ้าหน้าที่ Counselor ต้องทำงานหนักและทำอย่างเข้มข้นจริงๆ
- 108 views