ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ จนเปรียบเหมือนเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 เลยทีเดียว เนื่องจากสมาร์ทโฟนมีแอปพลิเคชันที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของมนุษย์ โดยทำให้เราสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่การใช้งานที่มากเกินไปนั้น อาจนำมาซึ่งผลเสียต่อร่างกายได้
จุติพร ธรรมจารี
จากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปี 2561 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด พบว่า ผลจากการสำรวจประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนทั้งสิ้น 56.7 ล้านคน หรือ ร้อยละ 89.6 ซึ่งผู้มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มที่ใช้มือถือสูงที่สุด ถึงร้อยละ 99.5 โดย จุติพร ธรรมจารี นักกายภาพบำบัดประจำศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ผู้ที่มารักษาที่ ศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จะอายุประมาณวัยทำงาน หรือราวๆ 40 ปี แต่พอตั้งแต่มีการใช้สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น พบว่ากลุ่มอายุของผู้เข้ารับการรักษาลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยในกลุ่มที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย อายุประมาณ 20 – 22 ปี มาเข้ารับการรักษากันมากขึ้นด้วยกลุ่มโรคกล้ามเนื้ออักเสบ โดยเป็นได้ตั้งแต่ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ไปจนถึงคอ บ่า ไหล่
จุติพร กล่าวต่อว่า โรคกล้ามเนื้ออักเสบที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟน ได้แก่ “อาการนิ้วล็อก” ซึ่งเกิดจากการอักเสบบริเวณตรงเอ็น บริเวณข้อนิ้วมือ ในส่วนของข้อมือมักพบ “โรคเดอ เกอร์แวง (De Quervain’s Disease)” หรืออาการปลอกเอ็นข้อมืออักเสบ ไล่ขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นในส่วนของโรคบริเวณข้อศอก จัดอยู่ในกลุ่มโรคเอ็นข้อศอกอักเสบ หรือที่เราเรียกกันว่า Tennis Elbow หรือ Golfer Elbow เนื่องจากไม่มีใครที่จะถือสมาร์ทโฟนโดยเหยียดข้อศอก เราจะต้องงอข้อศอกเล็กน้อยเพื่อให้สมาร์ทโฟนเข้ามาใกล้สายตาเรามากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เรางอข้อศอกนานๆ จะทำให้มีการอักเสบเกิดขึ้นบริเวณเอ็นข้อศอกได้
ไล่ขึ้นมาถึงข้อไหล่ มักพบโรคเอ็นข้อไหล่อักเสบ เนื่องจากการถือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานด้วย และถ้าเรานั่งห่อไหล่หลังค่อม คอยื่น ก็จะทำให้เอ็นบริเวณข้อไหล่มีการกดทับกับโครงสร้างของกระดูก ซึ่งเมื่อเกิดการกดทับนานๆ หรือเกิดการเสียดสีนานๆ จะส่งผลให้เกิดการอักเสบ และอาการปวดตามมา นอกจากนี้ การนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ จะส่งผลให้เกิดโรคในกลุ่ม Myofascial pain syndrome หรือพังผืดในกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากการนั่งท่าเดียวนานๆ กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง ตึงรั้ง จนปวดตรงบริเวณบ่า และสะบัก และอาจจะร้าวขึ้นคอ ขมับ หรือกระบอกตา หรือบางรายที่นั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ จะเกิดการยึดรั้งของเส้นประสาทบริเวณแขนทำให้มีอาการปวดชาร้าวไปตามแขนได้เหมือนกัน และอาจทำให้กระดูกคอเสื่อมได้ เนื่องจากเป็นการนั่งที่ผิดหลักชีวกลศาสตร์ หรือยิ่งไปกว่านั้น อาจส่งผลทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทได้เลยทีเดียว
สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออักเสบต่างๆ ที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนนั้น จุติพร ได้แนะนำว่า หากต้องใช้สมาร์ทโฟนพิมพ์ข้อความยาวๆ สำหรับการติดต่อเรื่องที่สำคัญ ควรเปลี่ยนจากการพิมพ์เป็นการโทร นอกจากนี้อาจใช้เป็นข้อความเสียง หรือการพิมพ์อักษรด้วยเสียงผ่านฟีเจอร์ในสมาร์ทโฟน และไม่ควรนั่งท่าเดียวนานๆ ควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถทุก 30 – 40 นาทีด้วยการขยับยืดเหยียดเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อนอกจากนี้ควรหาหมอนหรืออะไรก็ตามที่เหมาะสมสำหรับรองตรงบริเวณข้อศอก เพื่อให้สมาร์ทโฟนอยู่ในระดับสายตา จะได้ไม่ต้องก้มหน้านานๆ ซึ่งจะส่งผลต่อกระดูกคออีกทั้งจะได้ช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณสะบักหรือไหล่ที่จะส่งผลทำให้เกิดอาการปวดแขน ส่วนเรื่องขนาดของตัวอักษร และความสว่างหน้าจอก็มีส่วนสำคัญ เพราะหากสมาร์ทโฟนมีขนาดตัวอักษรที่เล็กเกินไป หรือมีความสว่างไม่เพียงพอ จะทำให้เรายิ่งต้องก้มและต้องเพ่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อที่คอ และตาได้
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมอบรมฟรีในหัวข้อ "เล่นมือถือ อย่างมีความสุข Smart Phone Smart Posture" เพื่อให้ได้ทราบถึงสาเหตุของการบาดเจ็บ และโรคที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟน การใช้สมาร์ทโฟนอย่างถูกต้อง และการออกกำลังกายเพื่อป้องกันและรักษาเมื่อเกิดการบาดเจ็บ และจะได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในหัวข้อที่น่าสนใจอื่นๆ อีก ทั้งในเรื่องของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทางระบบประสาทกิจกรรมบำบัด ตลอดจนกายภาพบำบัดในเด็ก เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งหัวข้อจะแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการจัดอบรม และบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับกายภาพบำบัด ได้ที่ www.pt.mahidol.ac.th หรือ FB: ศูนย์กายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล
- 69 views