แม้ขณะนี้โรงพยาบาลในประเทศไทยจะได้เริ่มดำเนินตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในโครงการลดความแออัดโดยการรับยาที่ร้านไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นมา แต่นี้ก็ไม่ใช่วันแรกที่แนวทางนี้ได้มีการเริ่มต้นปฏิบัติขึ้น
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งได้มีการนำร่องหรือทดลองการดำเนินงานไปแล้วบางส่วน ซึ่งบทเรียนความรู้ต่างๆ ได้ถูกพูดถึงในการอภิปราย “บทบาทของภาคีเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ในการสนับสนุนโครงการฯ และประสบการณ์ดำเนินโครงการจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์โดยโรงพยาบาลและร้านยา” เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2562
การอภิปรายนี้ได้มีขึ้นในเวทีการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจัดโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม
ภญ.สุณีรัตน์ กิตติคุณ
เริ่มด้วย ภญ.สุณีรัตน์ กิตติคุณ จากร้านยาสมนึกเภสัช จังหวัดชลบุรี เล่าถึงการดำเนินงานของจังหวัดที่มีแนวความคิดเรื่องการรับยาที่ร้านมาก่อนราว 7-8 เดือน ก่อนที่จะมีนโยบายมาสอดรับกับแนวความคิด ทำให้การดำเนินงานมีความลื่นไหลด้วยความเข้าใจของทุกฝ่าย ทั้งโรงพยาบาล ร้านยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)
ทั้งนี้ การนำร่องได้เริ่มต้นในโรงพยาบาลชลบุรี ที่มีเป้าหมายหลักสามข้อคือ ลดความแออัด เพิ่มความปลอดภัย และลดความสูญเสีย โดยมีกลุ่มเป้าหมายคนไข้ที่จะรับยาที่ร้านในสองโรคคือ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งในเฟสแรกได้นำร่องที่ 4 ร้านยาคุณภาพในจังหวัด ที่มีเภสัชกรประจำไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง
สำหรับขั้นตอนในช่วงเริ่มต้นทดสอบระบบ เมื่อพยาบาลคัดกรองว่าเคสใดเข้าเงื่อนไข เช่น มีความดันคงที่ ค่าน้ำตาลคงที่ ก็จะมีการแนะนำผู้ป่วยถึงตัวโครงการ และให้ข้อมูลว่าสามารถไปร้านยาใดได้บ้าง ซึ่งพบว่าจากการแนะนำผู้ป่วย 20 เคส มีเพียง 2 เคสเท่านั้นที่สนใจเข้าร่วมการรับยาที่ร้าน
“ตอนแรกคนสนใจเข้าร่วมน้อย เพราะเขารู้สึกยังไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร แต่พอเราได้คุยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทักษะการสื่อสารก็มีมากขึ้น รู้ว่าประชาชนสนใจในจุดไหน เช่น เมื่อไปรับยาที่ร้านแล้วได้วัดความดัน ได้ชั่งน้ำหนัก ได้วัดเอวด้วย ทำให้เริ่มมีคนที่จะสนใจเพิ่มมากขึ้น” ภญ.สุณีรัตน์ เล่าประสบการณ์
ในส่วนของเฟสสองที่จะดำเนินการต่อไป ภญ.สุณีรัตน์ ระบุว่า จะเปิดรับสมัครร้านยาให้มากขึ้น เพื่อขยับออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการเชื่อมข้อมูลคนไข้บางส่วนระหว่างโรงพยาบาลกับร้านยา โดยการทำเป็นคิวอาร์โค้ดไว้สแกน ซึ่งร้านยาจะเห็นแค่ข้อมูลบางส่วนของคนไข้ที่มารับยา พร้อมกับหลักการที่อยากให้มีเภสัชกรประจำตัวของคนไข้ เช่นเดียวกับที่มีหมอประจำตัว
ภญ.ศิริพร ฤทธิสร
ถัดมาที่ ภญ.ศิริพร ฤทธิสร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลระยอง เล่าถึงการดำเนินงานหลังจากคิกออฟในวันที่ 9 ก.ย. 2562 โดยใช้รูปแบบที่ห้องยาโรงพยาบาลจัดยาให้แก่ผู้ป่วยแต่ละรายส่งไปที่ร้านยา แต่ความแตกต่างกับโรงพยาบาลชลบุรีคือ หากหมอสั่งจ่ายยาสามเดือน จะจัดยาทั้งสามเดือนส่งไปไว้ที่ร้านยาเลย แทนที่จะส่งยาไปเติมที่ร้านยาทีละเดือน
ทั้งนี้ นอกจากคนไข้กลุ่มโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูงแล้ว ในช่วงแรกยังเลือกคนไข้กลุ่มศัลยกรรมกระดูกเข้าโครงการด้วย เพราะเห็นว่ามีปริมาณยาน้อย คนไข้จะได้ไม่ต้องรอรับที่ห้องยา ทว่าช่วงเริ่มต้นกลับไม่มีคนไข้เลือกรับบริการเลย เนื่องจากทางโรงพยาบาลมีช่องทางพิเศษสำหรับการจ่ายยาน้อยรายการ ซึ่งไม่ต้องรอนานอยู่แล้ว จึงไม่มีคนไข้กลุ่มนี้เลือกรับบริการ
ขณะเดียวกัน ยังพบว่าตำแหน่งข้องร้านยาที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาล ยังมีผลทำให้คนไข้ไม่เลือกเข้าโครงการ นั่นเพราะคนไข้อาจคิดว่าหากนั่งรอรับเหมือนเดิมก็จะได้ยาวันนั้นเลย แต่ถ้าเลือกเข้าโครงการก็จะไม่ได้ยาในทันที ต้องทำเรื่องในระบบและรับใบสลิปกลับบ้าน แล้วจึงค่อยไปติดต่อขอรับยาที่ร้านอีกครั้งภายในเจ็ดวัน
ภญ.ศิริพร ระบุว่า เนื่องจากช่วงเริ่มต้นได้ทำการพุ่งเป้าไปที่ร้านยาคุณภาพในจังหวัด ซึ่งในระยองมีเพียง 14 ร้าน โดยอยู่ในตัวเมือง 8 ร้าน อย่างไรก็ตามยังมีร้านที่เป็นเชน เช่น บูทส์ วัตสัน รวมอยู่ด้วย จากการพูดคุยกันจึงคิดว่าควรขยายร้านที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากร้านยาคุณภาพอย่างเดียว ให้เป็นร้านยามาตรฐาน GPP ที่มีเภสัชกรประจำไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง เข้ามาเป็นตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นด้วย
รศ.ดร.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม
ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม ผู้แทนโรงพยาบาลขอนแก่น เล่าว่า ขอนแก่นมีการเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2557 โดยมองทางเลือกของประชาชนในการเติมยาโรคเรื้อรังใกล้บ้านได้ เพื่อความรวดเร็ว โดยใช้ชื่อว่า “รับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ” ซึ่งโครงการที่ประเทศกำลังทำในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาระบบบริการด้านยา และนำไปสู่เรื่องการดูแลปฐมภูมิที่ใกล้ใจประชาชน
สำหรับโรงพยาบาลขอนแก่นมีการทำในสองโมเดล ทั้งแบบที่ห้องยาโรงพยาบาลจัดยาให้แก่ผู้ป่วยแต่ละรายส่งไปที่ร้านยา ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 50 ร้านยาครอบคลุมทั้งตัวเมืองและอำเภอ กับอีกแบบคือให้ร้านยาเป็นคลังยาย่อยของโรงพยาบาล และทำหน้าที่จัดยาให้แก่ผู้ป่วยแต่ละรายตามใบสั่งยา
ในส่วนของแบบที่สองนั้น รศ.ดร.ภญ.สุณี ระบุว่าเป็นลักษณะของการกระจาย Primary Care Cluster (PCC) ที่ทำคู่กับร้านยา ซึ่งจะช่วยเสริมให้งานปฐมภูมินั้นดีขึ้น โดยทำงานแบบไร้รอยต่อระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา มีเภสัชกรช่วยดูแลคนไข้ที่มีอาการคงที่ ให้คนไข้มีการใช้ยาที่ดี
เธอขยายความว่า เมื่อผ่านโรงพยาบาลไปแล้วร้านยาจะต้องมีมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่การส่งมอบยา ช่วยตรวจสอบการจ่ายให้ถูกคน ถูกวิธี ถูกขนาด ถูกเวลา และช่วยดูแลคนไข้ว่ามีแนวโน้มจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ มีการซักประวัติข้อมูลเพิ่มเติม ให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยดูแลพฤติกรรมผู้ป่วย ทั้งพฤติกรรมทางสุขภาพและการใช้ยา
“เรื่องการเติมยาเป็นเพียงมิติเดียวของการที่จะทำงานเชื่อมโยงกัน ซึ่งร้านยากับโรงพยาบาลน่าจะทำงานอื่นๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ การคัดกรอง ตรวจเยี่ยมบ้าน การปรับพฤติกรรม จัดการการใช้ยา และอีกส่วนที่ทำได้คือเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ควรจะเป็นร้านยาสีขาว ไม่กระจายยาที่มีปัญหาสู่ชุมชน เหล่านี้คือมิติของร้านยาที่จะมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพได้มากกว่าแค่การเช็คและจ่ายยา” รศ.ดร.ภญ.สุณี ระบุ
ดร.ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ
ด้าน ดร.ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ระบุว่า ทางสมาคมฯ เห็นด้วยระบบการรับยาที่ร้านเป็นอย่างมาก โดยกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานของใบสั่งยาให้มีความชัดเจน และระบบการติดตามการใช้ยาที่เหมาะสม ช่วยร้านยาในการเฝ้าติดตามผู้ป่วยแต่ละระดับ เช่นหากมีภาวะอย่างไรจึงจะถอนคนไข้กลับไปที่โรงพยาบาล เป็นต้น
“จะต้องมีการออกแบบร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับร้านยา ในการให้ข้อมูลคำแนะนำที่ถูกต้อง ข้อสังเกตุ ข้อพึงระวังบางตัวยา ซึ่งเป็นจุดเด่นในการนำเภสัชกรมาช่วยผู้ป่วยในการบริหารยา และหากออกแบบให้ผู้ป่วยกำหนดการรับยากับที่ร้านเองได้ ก็จะเป็นทั้งความสะดวกของผู้ป่วยเอง และร้านยาที่สามารถนัดคิวคนไข้ให้เวลามารับยาได้ชัดเจน” ดร.ภญ.ศิริรัตน์ ระบุ
ดร.ภญ.ศิริรัตน์ ระบุว่า สิ่งสำคัญหลังจากนี้คือบันทึกการจ่ายยาของผู้ป่วย ซึ่งระหว่างที่ระบบอิเล็กทรอนิกส์อาจยังไม่สมบูรณ์ การบันทึกในสมุดบันทึกประจำตัวจึงมีความสำคัญพอสมควร ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารยาของตนเอง รวมถึงเข้าใจในหลักปฏิบัติตัว เช่นเดียวกับบทบาทของเภสัชกรในการติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย โดยเฉพาะเมื่อคนไข้มีการร้องเรียนอาการที่เกิดจากตัวยาต่างๆ
- 224 views