เริ่มแล้ว 1 พ.ย.62 รพ.พระนั่งเกล้า เดินหน้า “โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยกลไกร้านยา” 20 ร้านยา ขย.1 ร่วมเป็นเครือข่าย ช่วยเพิ่มความสะดวกผู้ป่วยยาร้านยา ไม่ต้อรอคิวนาน ระบุเป็น รพ.แห่งที่ 2 เขตบริการสุขภาพที่ 4 มี รพ.หลายแห่ง เตรียมทยอยเข้าร่วมโครงการฯ ต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมทั่วประเทศ มี 45 รพ. 403 ร้านยาเข้าร่วม
ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่ 4 เป็นประธานเปิดโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยใช้กลไกร้านยา ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.มณเฑียร เพ็งสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวรายงานการดำเนินโครงการ และ นพ.จักกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี ร่วมพิธีเปิดโครงการในครั้งนี้
นพ.สุระ กล่าวว่า โรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามีผู้ป่วยเข้ารับบริการแออัดมากที่สุดในกลุ่มโรงพยาบาลรอบจตุรทิศรอบ กทม. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ละวันเฉพาะผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการเฉลี่ยวันละ 2,500-3,000 ราย ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าความแออัดในโรงพยาบาลนอกจากการรอคิวตรวจแล้ว ยังเกิดจากการรอรับยาจึงได้มีนโยบายขับเคลื่อนลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยใช้กลไกร้านยานี้ โดยพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 4 มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่จำนวน 12 แห่ง ในจำนวนนี้ 3 แห่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ในเขตบริการสุขภาพที่ 4 และเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในจังหวัดนนทบุรีที่ได้เปิดตัวโครงการนี้ เริ่มต้นวัน 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป หลังจากที่โรงพยาบาลสระบุรีได้เปิดตัวโครงการก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562
นอกจากผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จิตเวช และหอบหืด ตามนโนบายเปิดให้ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจแล้ว โรงพยาบาลพระนั่งเกล้ายังได้เพิ่มเติมกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงด้วย เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง จะมีภาวะไขมันในเลือดสูงด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับยาในคราวเดียวกัน ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย เบื้องต้นมีร้านยา ขย.1 ในพื้นที่จำนวน 20 แห่ง ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการร้านยาของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าแล้ว เพื่อเป็นทางเลือกรับยาให้กับผู้ป่วยตามโครงการ นับเป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้
นพ.จักรกริช กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยใช้กลไกร้านยา ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้มีโรงพยาบาลทั่วประเทศ เข้าร่วมแล้วจำนวน 45 แห่ง ร้านยา ขย.1 จำนวน 403 แห่ง โดยในส่วนของผู้ป่วย มีผู้ที่แสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อรับยาที่ร้านยาแล้วประมาณ 40,000 คน แต่ในส่วนของจำนวนการเบิกค่าใช้จ่ายค่าบริการที่ร้านยายังมีไม่มากจำนวน 376 คน เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นโครงการ ซึ่งผู้ป่วยที่มารับบริการอาจใช้บริการรับยาที่ร้านยาในคราวต่อไป
ด้าน นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 4 ได้เตรียมทยอยดำเนินโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยใช้กลไกร้านยาอย่างต่อเนื่อง โดยในจังหวัดสระบุรี นอกจากโรงพยาบาลสระบุรีที่ดำเนินการไปแล้วนั้น ยังมีโรงพยาบาลเสาไห้ โรงพยาบาลบ้านหมอ และโรงพยาบาลพระพุทธบาท ที่เตรียมพร้อมดำเนินโครงการฯ และยังมีโรงพยาบาลในจังหวัดลพบุรี อ่างทอง อยุธยา และสิงห์บุรี เตรียมดำเนินการโครงการในเดือนพฤศจิกายนนี้ สำหรับในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี นอกจากโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าแล้ว ยังมีโรงพยาบาลศรีธัญญาที่จะเริ่มให้บริการในเดือนธันวาคมนี้ นับเป็นความร่วมมือจากผู้บริหารโรงพยาบาลในพื้นที่ ผู้ประกอบการร้านยา ขย.1 เพื่อขับเคลื่อนโครงการเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ ไม่ต้องรอนาน
ทั้งนี้ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการลดความแออัดฯ โดยร่วมเป็นหน่วยบริการด้านยาโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ได้แก่ อำเภอเมือง ชารินเภสัช บู๊ทส์-เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ บู๊ทส์-เดอะมอลล์งามวงศ์วาน บู๊ทส์-เอสพลานาด รัตนาธิเบศร์ เอ็กซ์ต้า พลัส สาขา เลี่ยงเมืองนนทบุรี 15 เอ็กซ์ต้า พลัส สาขา สะพานพระนั่งเกล้า เอ็กซ์ต้า พลัส สาขา งามวงศ์วาน 25 ซอย 9 เอ็กซ์ต้า พลัส สาขา เรวดี 17 เอ็กซ์ต้า พลัส สาขา งามวงศ์วาน 18 จุด 2 เอ็กซ์ต้า พลัส สาขา นนทบุรี 42 ร้านยาองค์การเภสัชกรรม ร้านเพรียว PURE สาขาติวานนท์ มะกอกเภสัช ร้านขายยา เซฟดรัก เซ็นเตอร์ สาขา โลตัสรัตนาธิเบศร์ ร้านขายยา เซฟดรัก เซ็นเตอร์ สาขาบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า รัตนาธิเบศร์ ร้านขายยาเพรียว (PURE) สาขารัตนาธิเบศร์ 2 เอ็ม.ดี.พลัส ฟาร์ม่า เม็ดยาเภสัช จักรวาลยา 2 สยามฟาร์เทค
- 797 views