อย.ประชาพิจารณ์ ร่างกฎหมายลูก “กัญชง” ชูเป็นพืชเศรษฐกิจ หมอไพศาล แจงอนุญาตปลูกบ้านละ 1 ไร่ กำหนด 5 ปีแรก ทำได้เฉพาะไทย คาดกฎหมายทันใช้ภายใน มี.ค. 63 ด้าน “ปานเทพ” ระบุ ปี 63 UN จะปลดสาร CBD ออกจากยาเสพติดอยู่แล้ว การกำหนดกรอบ 5 ปีจะทำให้ไทยเสียโอกาสพัฒนาสายพันธุ์ พร้อมแนะหันไปคุมเข้มการผลิตที่ปลายทางแทน และตั้ง “สถาบันพืชเศรษฐกิจ” เพื่อดูพืช “กัญชง-กัญชา-กระท่อม”
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกกายน 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. ... จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้อยู่ใต้บังคับกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายภาคประชาชนที่สนใจ พร้อมกันนี้ยังได้เปิดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th และ www.lawamendment.go.th ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2562 ก่อนจะรวบรวมความเห็นทั้งหมดมาปรับแก้ในร่างกฎกระทรวงดังกล่าวและเสนอต่อ รมว.สาธารณสุขต่อไป
นพ.ไพศาล กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงฉบับเดิม และยกร่างขึ้นใหม่ครอบคลุมเรื่องการปลูก การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง ส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนสามารถขออนุญาตปลูกได้ ทั้งหน่วยงานรัฐ เกษตรกรไทย ประชาชนทั่วไปที่เป็นคนไทย นิติบุคคลที่เจ้าของเป็นคนไทย 2 ใน 3 โดยปลูกได้ในเชิงพาณิชย์ แต่ต้องได้รับอนุญาตในการปลูก และมีรายละเอียดชัดเจนว่าปลูกที่ไหน ส่งไปขายให้ใคร ใช้สายพันธุ์อะไร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมการอนุญาตให้ครัวเรือนที่มีวัฒนธรรมในการใช้กัญชงเป็นสิ่งทอแบบดั้งเดิม สามารถปลูกใช้ในครัวเรือนได้ โดยปลูกได้ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ แต่ต้องมีใบอนุญาตปลูก และปลูกสายพันธุ์ที่ได้รับอนุญาต ส่งเสริมการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ไทย ดังนั้นในบทเฉพาะกาลจึงได้กำหนดว่า 5 ปีแรกจะสงวนให้เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับกัญชงภายในประเทศได้ แต่ห้ามนำเข้ากัญชงจากต่างประเทศยกเว้นเมล็ดพันธุ์ พร้อมลดขั้นตอนการขอให้เร็วขึ้น ทั้งนี้คาดว่าการแก้ไขร่างกฎกระทรวงจะแล้วเสร็จและเสนอต่อ รมว.สาธารณสุขเพื่อลงนามได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่ากฎหมายจะแล้วเสร็จในเดือน มีนาคม 2563
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในปี 2563 องค์การสหประชาชาติ (UN) จะปลดสาร CBD ออกจากยาเสพติด ซึ่งเป็นสารที่มีทั้งในกัญชงและกัญชาอยู่แล้ว ดังนั้นการที่กำหนดกรอบเวลา 5 ปี ให้ทำได้เฉพาะคนไทย ในเมืองไทย ห้ามนำเข้าอย่างอื่น นอกจากเมล็ดพันธุ์นั้น จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาสายพันธุ์และการแข่งขันทางการค้า เพราะก้าวไม่ทันประเทศอื่น จึงอยากให้แก้ไขร่างกฎกระทรวงอนุญาตให้นำเข้าสาร CBD จากประเทศอื่นเข้ามาได้
นอกจากนี้ กติกาที่กำหนดว่ากัญชงต้องมี THC ไม่เกิน 1% ถึงจะไม่เป็นยาเสพติดนั้น มองว่าเข้มงวดเกินไป เพราะที่จริงแล้วทั้งกัญชาและกัญชงเป็นพืชที่มาจากสายพันธุ์เดียวกัน เมื่อปลูกแล้วเจอสภาพแวดล้อม น้ำ ไฟ เป็นตัวแปรที่ทำให้ได้สาร THC เกิน1% ได้ ก็กลายเป็นยาเสพติดโดยไม่รู้ตัว ส่วนตัวจึงไม่อยากให้คุมเรื่องการปลูกมาก แต่ควรไปคุมเรื่องการผลิตปลายทางแทน และอยากเสนอให้มีการตั้งสถาบันพืชเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย เพื่อดูแลพืชกัญชา กัญชง รวมถึงกระท่อมด้วย
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประชุมในครั้งนี้ ได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก สำหรับท่านที่ไม่ได้เข้าประชุม รวมทั้งประชาชนทั่วไป สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th และ www.lawamendment.go.th จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งหลังจากนี้ อย. จะรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมด เพื่อปรับปรุงให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษดำเนินการตามขั้นตอน แล้วจึงเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
- 30 views